ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” (Patient and  Personnel  Safety  Hospital:  2P Safety Hospital) ในโครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม

นพ.วิฑูรย์ ยงเมธาวุฒิ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค (OVERBROOK) จ.เชียงราย เล่าว่า โรงพยาบาลโอเว่อร์บรุ๊ค เป็นโรงพยาบาลที่สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เป็นโรงพยาบาลที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 100 ปี หัวใจของเราคือการจะประกาศพระกิตติคุณของพระเจ้าผ่านการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ และเพื่อให้พันธกิจของโรงพยาบาลเป็นจริง จึงได้ผลักดันตัวเองเข้าสู่กระบวนการคุณภาพของโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น HA ISO หรือ 2P Safety

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของโรงพยาบาลเอกชนก็คือความคาดหวังของผู้มารับบริการที่โรงพยาบาล ถึงแม้เราจะเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้แสวงหากำไร แต่หมายความว่าโรงพยาบาลจะต้องดำรงอยู่ได้ โดยมีฐานะทางการเงินซึ่งเกิดจากการดูแลผู้มารับบริการ เมื่อมีการจ่ายเงินก็มีความคาดหวังว่าเขาจะได้รับสิ่งที่เขาต้องการ หากบางครั้งผลลัพธ์ของการรักษาพยาบาลไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังก็จะเกิดปัญหาขึ้น อันนี้คือปัญหาที่หนักอกของโรงพยาบาลเอกชน

“การเข้าสู่โรงพยาบาลคุณภาพเลยเป็นหลักสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลมุ่งมั่นทำมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าในบางครั้งการจะทำให้เป็นโรงพยาบาล คุณภาพนั้น หมายถึงต้นทุน หมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่จะเกิดขึ้น แต่เนื่องจากโรงพยาบาลเราเป็นโรงพยาบาล ที่มีพันธกิจที่ชัดเจน และเราผลักดันขึ้นไป ผมคิดว่าสอดคล้องต้องกัน” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าพูดถึงคำว่าคุณภาพ จริงๆ แล้วมีหลายอย่าง ตั้งแต่การประกันคุณภาพ การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สำคัญและตอบโจทย์มากที่สุดคือ “การจัดการกับความเสี่ยง” ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญของคุณภาพ ซึ่งโปรแกรมของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) มีทั้งการรายงานความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ การรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มารับบริการ และมีวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย (Safety Culture) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ หากคนในองค์กรมีวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยอย่างแท้จริง เข้าใจ มีความคิดที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น การป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ก็จะประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้โรงพยาบาลประสบความสำเร็จในการทำ 2P Safety ปกติผู้บริหารจะต้องบริหารใน 3 ระดับ ระดับที่ 1 บริหารตัวเองและบริหารคนที่อยู่ในระดับเดียวกัน ระดับที่ 2 บริหารผู้ใต้บังคับบัญชา และระดับที่ 3 บริหารคนที่อยู่เหนือตัวเอง

“สิ่งที่ยุ่งยากในการจัดการบริหารคือคน คนจะมีคิดหลายรูปแบบ ในองค์กรก็จะมีหัวหน้า ในหัวหน้าก็จะมีหัวหน้า และหัวหน้าก็จะมีหัวหน้าอีกหลายระดับ ในบางครั้งคุณภาพที่แท้จริง เราต้องการให้ทั้งหมดขององค์กรเคลื่อนไหวได้ อันนั้นคืออุดมคติ แต่จริงๆ แล้วขอให้ภาพรวมขององค์กรสามารถขับเคลื่อนและเข้าใจอย่างเดียวกัน เคลื่อนไปอย่างเอกภาพก็จะเกิดพลังอย่างชัดเจนด้วยการบริหารองค์กร ที่สำคัญต้องใช้เวลา ความเชื่อใจกัน พลังถึงจะเกิด” ผอ.รพ.โอเวอร์บรุ๊ค ระบุ

สำหรับโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊คไ ด้เข้ากระบวนการโรงพยาบาลคุณภาพมากมายมาอย่างยาวนาน นับสิบปี สิ่งที่สำคัญคือการจัดทำระบบและความแตกต่างระหว่างมนุษย์ เอกสารคุณภาพไม่ยากที่เราจะทำขึ้นมา แต่การจะให้คนเข้าใจและทำตามเอกสารคุณภาพต้องใช้เวลา ต้องใช้ความไว้วางใจ ต้องพัฒนาบุคลากร ต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องมีการประเมินซ้ำ ติดตามและวนเป็นวงรอบ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่เป็น Key Success คือผู้นำต้องมีมุมมองที่เป็นบวก blame policy สำคัญและต้องใช้เวลาฝึก เพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการแพะรับบาป ผู้นำต้องมองตนเอง พยายามสร้างบรรยากาศ และจะต้องมองในเชิงบวก จริงๆ แล้วคนไม่อยากทำผิด บางครั้งเกิดจากระบบการทำงานที่เราวางเอาไว้ผิด อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้หลังจากทำ 2P Safety Hospital เห็นได้ชัดเลยคือเราสามารถสร้างหนูไม่ให้กลัวแมวได้ ถ้าไม่ทำ 2P Safety พยาบาลจะไม่กล้าทักท้วงหมอ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ทุกวันนี้เรายังมีปัญหา เพราะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนไทย คือการฟังผู้ใหญ่ การเคารพ จนไม่กล้า บางครั้งพยาบาลอาจเจียมตัวว่าเราไม่รู้เหมือนหมอ หมอรู้มากกว่าอย่างนี้เป็นต้น

“หลังจากที่ทำมาทั้งหมด เราเห็นถึง วัฒนธรรมที่กล้าขึ้น พยาบาลกล้าที่จะทักท้วง มีระบบแนวทาง ซึ่งคนที่ไม่ทำตามก็จะละอายตัวเอง สร้างมวลขนให้มากขึ้น คนที่ไม่ทำเรื่องดังกล่าวสังคมก็จะไม่ยอมรับ ทำให้เราเกิดปัญหาความเสี่ยงลดน้อยถอยลง อุบัติการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นมา กระบวนการต่างๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสัมผัสได้ เราเห็นว่าคนของเรา alert มากขึ้น เรามีรีพอร์ตความเสี่ยงเกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งรีพอร์ตเหล่านั้นบางครั้งเป็นความเสี่ยงก่อนจะถึงตัวคนไข้ด้วยซ้ำ” นพ.วิฑูรย์ สรุป