ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคเบาเหวานเป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะเกิดอาการรุนแรงของโรคเกิดขึ้น

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานลดลง เชื้อไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ถ้าติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสติดเชื้อลงปอดได้มากขึ้น

ผู้ป่วยเบาหวาน มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าห้องไอซียู และยังส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตมาก เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

ผศ.พญ.ปวีณา ชุณหโรจน์ฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยในเวทีเสวนาออนไลน์ “เบาหวานกับโควิด-19” เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเป็นโควิด-19 จะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายจะแกว่งไปมา ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อที่มีภาวะความเจ็บป่วยเอง หรือจากการได้รับยารักษาโควิด-19 เช่นทานยาต้านไวรัส ยาในกลุ่มนี้บางคนทานแล้วรู้สึกคลื่นไส้ไม่อยากรับประทานอาหาร ซึ่งถ้ายังรับประทานยาเบาหวานอยู่ก็อาจทำให้น้ำตาลตกได้ ในทางตรงกันข้าม บางคนจะได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์เมื่อมีการติดเชื้อลงปอด ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น

ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามผู้เป็นเบาหวานมีการติดเชื้อโควิด-19 สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีการติดตามระดับน้ำตาล ว่าอยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ เพื่อเผ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงหรือน้ำตาลต่ำได้

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโควิด-19 และทำการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (HI) ที่ได้รับการดูแลจากทางศิริราชจะมีการจัดส่งอุปกรณ์สำหรับตรวจระดับน้ำตาล และตรวจคีโตน ส่งไปให้ที่บ้าน ให้ผู้ป่วยนำแผ่นตรวจปัสสาวะจุ่มลงในปัสสาวะแล้วนำมาเทียบกับแถบสีบนหน้าซองสำหรับตรวจระดับน้ำตาล

ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลในร่างกายสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนเกิดเลือดเป็นกรด หรือที่เรียกว่ามีคีโตนเพิ่มขึ้น ก็ให้ตรวจปัสสาวะแล้วทำการเทียบกับแถบสีบนหน้าซองสำหรับตรวจคีโตน หากพบว่ามีค่าคีโตนสูง ทีมแพทย์และพยาบาลจะติดต่อไปเพื่อให้คำแนะนำ พร้อมทั้งจัดส่งอุปกรณ์เจาะเลือดไปให้ผู้ป่วยที่บ้าน ให้ผู้ป่วยเจาะน้ำตาลแล้วรายงานผลกลับมา

นอกจากนี้ยังส่งอินซูลินไปให้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาเนื่องจากโควิด-19 ไม่สามารถมารับยาที่โรงพยาบาลได้ สำหรับผู้ป่วยที่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็อาจจะไม่ต้องใช้ยาฉีด เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาสู่ระดับปกติ

“วัคซีนโควิด เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ แม้จะป้องกันได้ไม่ 100 % แต่อย่างน้อยถ้าได้รับวัคซีนแล้วเกิดพลาดพลั้งติดโควิด -19 ก็จะมีอาการไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ ขณะเดียวกันก็ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นและคนรอบตัว” ผศ.พญ.ปวีณา ระบุ

ผศ.นพ.ธเนศ ชัยสถาผล ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาการบริบาลผู้ป่วยนอก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ของผู้ป่วยเบาหวานจะติดเชื้อง่าย เชื้อลงปอดง่าย มีอาการรุนแรงของโควิด-19 ได้ง่าย เพราะฉะนั้นวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ป่วยเบาหวานทุกท่านควรจะต้องเข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิด

“บางคนอาจกังวลเรื่องผลข้างเคียง ผมขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิดมีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมีบ้างเล็กน้อย เช่นอาจจะเป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว เป็นชั่วคราว ไม่กี่ชั่วโมงหรือกี่วัน และหายไปได้ด้วยการรักษาแบบพื้นฐาน ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบไม่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับประสิทธิภาพหรือประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนโควิด ป้องกันการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน ลดการนอนโรงพยาบาลได้อย่างชัดเจน ลดการติดได้ดีระดับหนึ่ง” ผศ.นพ.ธเนศ กล่าว

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หลังหายป่วยโควิด-19 ให้ไปฉีดวัคซีน แม้ว่าช่วงแรกมีคำแนะนำให้เว้นระยะ 3 เดือนหลังหายป่วย แต่ปัจจุบันมีการศึกษาและมีข้อมูลมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอ 3 เดือน สามารถฉีดได้เลยภายใน 1 เดือน หลังจากหายป่วย

“สำหรับการนับว่าเมื่อไหร่หายป่วย โดยทั่วไปคือหายจากอาการไข้ หรืออาการทางการหายใจทั้งหมด แต่บางคนเป็นแล้วไม่มีอาการหรือเป็นเบามาก ก็จะนับหลังจาก 14 วันที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นวันที่สิ้นสุดโควิด-19 แนะนำให้ฉีด 1 เข็มไม่ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนเป็นหรือไม่ จุดประสงค์การฉีดวัคซีนสำหรับคนที่เป็นโควิด-19 แล้ว เราพบว่าภูมิคุ้มกันของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วจะอยู่ค่อนข้างนาน แต่อาจจะไม่สูงพอ และมีรายงานการติดเชื้อซ้ำได้ เพราะฉะนั้นการฉีดเข็มกระตุ้นหลังจากเป็นแล้ว ก็เพื่อไม่ให้เป็นใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็จะลดช่วงเวลาที่เราสามารถมีเชื้อในตัวหรือเป็นพาหะ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ได้รับเอง และภาพของสาธารณสุขหรือการระบาดโดยรวมด้วย” ผศ.นพ.ธเนศ กล่าวสรุป