ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยจาก Johns Hopkins Kimmel Cancer Center ได้เปิดเผยงานวิจัยผ่านวารสาร npj Breast Cancer เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยพบว่า “เลปติน” โมเลกุลที่ถูกสร้างโดยเซลล์ไขมัน มีคุณสมบัติในการหยุดประสิทธิภาพของ Tamoxifen” ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิด oestrogen-positive breast cancer

นี่อาจจะนำมาสู่คำอธิบายที่ว่า ทำไมผู้ที่มีภาวะ “โรคอ้วน” ถึงรักษาโรคมะเร็งเต้านม “ยาก” กว่าผู้อื่น รวมทั้งยังพบเจอกับอาการของมะเร็งรุนแรงกว่า

ดิพาลี ชาร์มาร์ หัวหน้าทีมวิจัย ได้เผยว่า ผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนนั้นมักจะใช้ Tamoxifen ยารักษามะเร็งเต้านมแบบ estrogen receptor-positive ที่ใช้มากที่สุดในโลกตัวหนึ่งไม่ได้ผล และในเวลานี้ คนจำนวนมากบนโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะน้ำหนักเกิน เอาแค่ในสหรัฐอเมริกาก็คิดเป็นกว่า 40% ของประชากรทั้งหมด

ดังนั้น มันจึงน่ากังวลว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจากกลุ่มเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถได้รับการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ

มะเร็งเต้านมแบบ estrogen receptor-positive ถือว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่แพร่หลายมากที่สุด เป็น70% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมดบนโลก ซึ่งมันพึ่งพาฮอร์โมนในการเติบโตและแพร่กระจาย ดังนั้นแล้วโดยปกติ วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการกระทำฮอร์โมนบำบัด (hormone therapies) โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาเอสโตรเจน

บรรดาผู้คนในแวดวงการแพทย์นั้นทราบกันดีมานานแล้วว่า “ความอ้วน” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของมะเร็งเต้านม และยิ่งไปกว่านั้นคือเนื้องอกขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือในทางสถิติ ผู้มีภาวะอ้วนมีความเสี่ยงต่ออาการหนักและเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วๆ ไป

แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่ก่อนหน้านี้นักวิจัยไม่มีคำตอบก็คือ จริงๆ แล้วความอ้วนมันไปเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมได้อย่างไร

ดังนั้น ทีมวิจัยของชาร์มาร์จึงเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะโมเลกุลจากต่อมไร้ท่ออย่างไซโตไคน์ (Cytokines) ที่ผลิตมาจากเซลล์ไขมันหรือไม่ ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การรักษามะเร็งนั้นไม่ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งยังส่งผลให้อาการแย่ลงอีกด้วย

และในที่สุดก็พบตัวร้ายสำคัญนั่นก็คือ “เลปติน” โมเลกุลที่ซ่อนอยู่ในเซลล์ไขมัน มีหน้าที่ในการสร้างความรู้สึก “อิ่ม” ให้กับร่างกาย และเชื่อกันว่ามันเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมะเร็ง

การทดลองกระทำโดยการป้อนอาหารไขมันสูงให้กับหนูในห้องวิจัย เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลทำให้หนูเหล่านั้น “อ้วน” และทำให้มีระดับเลปตินในร่างกายสูงขึ้น จากนั้นก็ทำการปลูกถ่ายมะเร็งเต้านมแบบ estrogen receptor-positive เข้าไป

จากนั้นทีมวิจัยก็ได้ทำการให้  Tamoxifen แก่หนูที่เป็นมะเร็ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือหนูที่อ้วนนั้นเกิดผลของยาน้อยมาก เนื้องอกที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้มีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเลย รวมๆ แล้วไม่ได้แตกต่างกับการไม่ได้รับยาเลยแม้แต่น้อย กลับกันหนูที่ “ผอม” ตอบสนองต่อยาเป็นอย่างดี ยาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และเนื้องอกก็ได้รับผลที่ออกมาในทางที่ดีกว่าหนู “อ้วน” มาก

ผลของการทดลองที่ว่ามานั้น เป็นผลมาจากเลปตินโดยตรง โดยเลปตินนั้นได้ส่งผลในการไปด้อยประสิทธิภาพของยา Tamoxifen และทำให้ยาไม่สามารถสู้กับมะเร็งได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งไม่ใช่แค่หนูที่อ้วนเท่านั้น เลปตินในหนูที่ผอมก็มีผลเช่นเดียวกัน แต่หนูที่อ้วนนั้นมีเซลล์ไขมันมากกว่า ซึ่งเซลล์ไขมันที่มากกว่าก็เท่ากับการผลิตเลปตินออกมามากกว่า นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไมเลปตินในหนูที่อ้วนจึงส่งผลมากกว่า

ในเชิงการอธิบาย ทีมวิจัยของชาร์มาร์ได้พบว่า เลปตินนั้นเป็นตัวที่ไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์มะเร็ง แม้ว่าจะมีหรือไม่มีเอสโตรเจนที่มะเร็งต้องการนำมาใช้อยู่หรือไม่ก็ตาม และนอกจากนี้ยังไปกระตุ้นการทำงานของยีนอีกหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะอ้วนและมะเร็งอีกด้วย โดยเฉพาะยีนที่เรียกว่า “Med1”

เมื่อนักวิจัยได้ทดลองปิดการทำงานของโมเลกุลและยีนเหล่านั้น ยา Tamoxifen ก็มีการตอบสนองและมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยหนึ่งในวิธีที่ทำได้คือการใช้โมเลกุล “อดิโพเนคติน” ที่ได้มาจากต้นแมกโนเลีย อันสามารถหยุดการทำงานของโมเลกุลที่เกี่ยวข้องและยีน Med1 และช่วยให้ยารักษามะเร็งทำงานได้โดยสมบูรณ์

ชาร์มาร์ กล่าวว่า การกระทำที่เป็นการลดเลปติน ตั้งแต่ลดน้ำหนัก หรือการหยุดการทำงานของยีนและโมเลกุล สามารถที่ช่วยประสิทธิภาพของ Tamoxifen ได้จริง และองค์ความรู้ที่ค้นพบครั้งนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การคิดค้นวิธีที่จะมำให้ผู้มีภาวะอ้วนและป่วยมะเร็งเต้านมสามารถที่จะได้รับผลเต็มประสิทธิภาพของ Tamoxifen ได้เช่นคนทั่วไป

การค้นพบครั้งนี้ อาจจะนับได้ว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญของมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคร้ายที่เกาะกินชีวิตของผู้คนมาเป็นเวลานาน

อ้างอิง
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/11/211109095351.htm
https://www.news-medical.net/news/20211109/Fat-secreted-molecule-may-cancel-out-the-effects-of-common-breast-cancer-treatment.aspx
https://www.hopkinsmedicine.org/news/newsroom/news-releases/fat-secreted-molecule-lowers-response-to-common-cancer-treatment
https://www.nature.com/articles/s41523-021-00314-9
https://mashupmd.com/fat-secreted-molecule-lowers-response-to-common-cancer-treatment/?utm_source=related_article_headline&utm_medium=Fat-secreted%20molecule%20lowers%20response%20to%20common%20cancer%20treatment-clk_0&utm_campaign=mashupmd_related_articles