ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เกือบ 1 ใน 3 หรือประมาณ  30% ของโรคในมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 26 มีนาคม 2562 จึงมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 - 2567) ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขึ้น

Genomics Thailand หรือการถอดรหัสพันธุกรรม เป็นไปเพื่อนำข้อมูลพันธุกรรมของมนุษย์มาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนิน “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine)

ความสำคัญของการพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะทางการแพทย์ ที่จะศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อการศึกษาไปข้างหน้าแบบระยะยาว

ทั้งนี้ จะช่วยการวิเคราะห์ สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกับสุขภาพ หรือการเกิดโรคต่างๆ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยในแผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย โดยมุ่งเป้าใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

ในด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มควาแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคผ่านข้อมูลพันธุกรรมจะส่งผลอย่างมากถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ต่ำลง ส่งผลต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพและลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้มากขึ้น

การบูรณาการการใช้ข้อมูลพันธุกรรมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งต้นทุนในการบริหารจัดการและนำข้อมูลพันธุกรรมมาใช้ก็ลดลงมากแล้ว

นั่นจึงเป็นที่มาที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมพิธีลงนามสัญญาจ้างบริการถอดรหัสพันธุกรรม (Genomics Thailand) และเช่าพื้นที่ ร่วมกับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ภายใต้โครงการ “จีโนมิกส์ การแพทย์แห่งอนาคต เพื่อชีวิตและระบบสาธารณสุขของคนไทย”

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานในพิธีเปิดโครงการ “จีโนมิกส์ การแพทย์แห่งอนาคต เพื่อชีวิตและระบบสาธารณสุขของคนไทย” เปิดเผยว่า Genomics Thailand นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขและเทคโนโลยีการแพทย์ของไทย นำไปสู่การนำ “การแพทย์แม่นยำ” (precision medicine)

“โครงการนี้จะทำให้การแพทย์แม่นยำมีราคาที่ถูกลง ทำให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ Genomics ยังจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจของไทย ทั้งภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน” รมช.สธ. ระบุ

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ได้กล่าวว่า สวรส.จะมีหน้าที่หลักในการผลักดันให้นำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แม่นยำที่ได้มาจากการถอดรหัสพันธุกรรมไปสู่การบริการประชาชนผ่านระบบหลักประกันสุขภาพของทางภาครัฐ และให้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานและพื้นที่ที่เหมาะสมมากที่สุดก็คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“หน้าที่ของ สวรส. คือจะต้องจัดการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยจากอาสาสมัครที่เป็นตัวอย่าง 50,000 รายภายในระยะเวลา 5 ปี” นพ.นพพร ระบุ

ทางด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า Genomics และการแพทย์แม่นยำนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญของประเทศในตอนนี้ โดยความรู้ทางด้านนี้จะต้องเป็นสิ่งสนับสนุนการรักษาพยาบาลหลักของประเทศให้ เพราะระบบการแพทย์เปลี่ยนไปมากแล้ว

สำหรับการเซ็นสัญญาวันนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่บริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกถึง 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการแพทย์และการรักษา จะสามารถลดการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สร้างความเฉพาะตัวในการรักษาได้

2. งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากข้อมูลพันธุกรรมที่สร้างขึ้นมา ด้วยหวังว่าการรักษาด้วยพันธุกรรมในประเทศไทยจะกลายเป็นการรักษาระดับภูมิภาคและระดับโลก 3. เรื่องเศรษฐกิจและสังคม นั่นก็คือเป็นการส่งเสริมระบบสุขภาพของไทยคนไทยอย่างครบวงจร จะมีการพัฒนา Medical Hub องค์ความรู้จะส่งเสริมได้ทั้งการลงทุนด้านการแพทย์ ยา บริการ และเสริมศักยภาพทั้งแพทย์และพยาบาลรวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

“นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์โดยเฉพาะการบริการสมัยใหม่ที่มี การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเริ่มต้นจากการลงทุนศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่ EEC ก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรสายวิชาชีพและสายสนับสนุนในพื้นที่ ทำให้เกิดรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ ของประชาชนในพื้นที่” ดร.คณิศ กล่าว