ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทำ “สรุปรายงานการป่วย พ.ศ. 2563” เพื่อฉายภาพสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทย โดยได้จำแนกข้อมูลไว้อย่างละเอียด ซึ่ง “The Coverage” ได้คัดสรรประเด็นที่น่าสนใจมารายงานดังนี้

คนไทยนอน รพ. เฉลี่ย 4.38 วัน

จากรายงาน “สรุปรายงานการป่วย พ.ศ. 2563” พบว่า จำนวนวันนอนเฉลี่ยของ “ผู้ป่วยใน” อยู่ที่ 4.38 วัน โดย “สิทธิข้าราชการ” มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยสูงที่สุด 5.32 วัน รองลงมาคือสิทธิการรักษาอื่นๆ 4.38 วัน และ “สิทธิบัตรทอง” อยู่ที่ 4.25 วัน

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามประเภทโรงพยาบาล จะพบว่าโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีวันนอนเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ที่ 11.85 วัน รองลงมาคือโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ 6.36 วัน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 6.19 วัน โรงพยาบาลศูนย์ 5.04 วัน โรงพยาบาลทั่วไป 4.46 วัน โรงพยาบาลเอกชน 3.44 วัน และโรงพยาบาลชุมชน 3.17 วัน ตามลำดับ

‘บัตรทอง’ รักษา รพ.เอกชน มากที่สุด

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังให้ข้อมูลสัดส่วนการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของ “ผู้ป่วยใน” ของผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล

ทั้งนี้พบว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาในระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ตามลำดับ

ส่วน สิทธิสวัสดิการข้าราชการ มีสัดส่วนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงศึกษาฯ และโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ มากกว่าผู้ใช้สิทธิอื่นๆ

ขณะที่กลุ่มที่เข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนสูงที่สุด คือผู้มีสิทธิบัตรทอง

นอน รพ. เสียเงินเฉลี่ยครั้งละ 19,871 บาท

ในส่วนของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้ป่วยใน จำแนกตามประเภทโรงพยาบาลและสิทธิการประกันสุขภาพ โดยพบว่า “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้ป่วยใน” อยู่ที่ 19,871.11 บาทต่อครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามสิทธิการรักษา จะพบว่า “สิทธิข้าราชการ” สูงที่สุด อยู่ที่ 31,799.93 บาทต่อครั้ง รองลงมาคือ “สิทธิบัตรทอง” 18,432.23 บาทต่อครั้ง และสิทธิการรักษาอื่นๆ 17,571.61 บาทต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งตามประเภทของโรงพยาบาล โดยเรียงจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงที่สุด พบว่า โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด อยู่ที่ 59,685.76 บาท

รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชน 54,936.33 บาท โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ 35,736.37 บาท โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 34,262.48 บาท โรงพยาบาลศูนย์ 28,566.30 บาท โรงพยาบาลทั่วไป 18,046.02 บาท และโรงพยาบาลชุมชน 7,058.50 บาท ตามลำดับ

ข้อมูลการป่วยของผู้ป่วยนอก

สำหรับอัตราผู้ป่วยนอกต่อประชากร 1,000 คน ในภาพรวมประเทศไทยในปี 2563 อยู่ที่ 3,499.46 ขณะที่ในปี 2562 อยู่ที่ 4,030.69 นั่นหมายความว่า อัตราผู้ป่วยนอก “ลดลง”

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปเทียบอีก 1 ปีก่อนหน้า คือเทียบเคียงปี 2563 กับปี 2561 จะพบว่า ปี 2563 มีอัตราที่ “สูงขึ้น” กว่าปี 2561 ที่มีอัตราผู้ป่วยอยู่ที่ 3,392.70

หากจำแนกตามสาเหตุการป่วย 3 อันดับแรกของปี 2563 พบว่า โรคระบบไหลเวียนเลือด Diseases of the circulatory system สูงเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาคือ โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิซึม Endocrine, nutritional and metabolic diseases และ โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่าง และเนื้อยึดเสริม Diseases of the musculoskeletal system and connective tissue ตามลำดับ

ข้อมูลการป่วยของผู้ป่วยใน

ในส่วนของอัตราผู้ป่วยในทั้งประเทศต่อประชากร 100,000 คน (รวมทุกการวินิจฉัยโรค) ของปี 2563 จะอยู่ที่ 32,009.80 ลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 32,678.78

สำหรับผู้ป่วยในในปี 2563 เป็น “เพศหญิง” มากกว่าเพศชาย และหากแบ่งเป็นรายภาค จะพบว่า “ภาคเหนือ” มีจำนวนผู้ป่วยในมากที่สุด รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลางไม่รวม กทม. ตามลำดับ

เมื่อจำแนกเป็นช่วงอายุ จะพบว่าในปี 2563 อัตราผู้ป่วยในต่อประชากร 100,000 คน ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 15-59 ปี กลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 5-14 ปีตามลำดับ

สาเหตุการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยนอกนั้น อันดับ 1 ได้แก่ ความผิดปกติของต่อไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิกอื่นๆ Other Endocrine, nutritional and metabolic disorders อันดับ 2 คือ ความดันโลหิตสูงที่ไม่มีสาเหตุนำ Essential (primary) hypertension และ อันดับ 3 คือ เบาหวาน Diabetes mellitus