ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แนวทางหนึ่งนอกจากการรักษาผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล ก็คือระบบการกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกของการรักษาตัว สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงถึงขั้นที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

ท่ามกลางช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แนวทางนี้ได้ช่วยลดภาระของโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีผู้ป่วยล้นเตียงเกินกำลัง และในอีกแง่หนึ่งนั้น การได้รักษาตัวอยู่ที่บ้านก็สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัย สบายกาย และสบายใจ ให้กับผู้คนได้มากกว่าการไปอยู่โรงพยาบาล

สำหรับประเทศไทย จากประกาศของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดแนวทางแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ประสงค์จะทำการแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน บนหลักการคือต้องเป็นผู้ป่วยที่กำลังรอเตียง หรือผู้ป่วยที่แพทย์ให้ความเห็นว่าสามารถที่จะกักตัวอยู่ที่บ้านได้ หรืออยู่ในสถานพยาบาลเพื่อดูอาการมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 วัน ก็จะสามารถถูกส่งออกมากักตัวในบ้านได้

ส่วนข้อกำหนดอื่นๆ เช่น เป็นผู้ที่ไม่มีอาการ น้ำหนักตัวไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 มีสุขภาพแข็งแรง ขณะเดียวกันก็จะต้องมีผู้อยู่อาศัยในบ้านไม่มาก และต้องปฏิบัติตามกรอบของกรมควบคุมโรค โดยได้รับการดูแลจากแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล “Telemedicine” หรือ “Tele-health” โดยเคร่งครัด จนกว่าร่างกายจะหายดี

แน่นอนว่าแนวทางนี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นกระทั่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร อย่าง บอริส จอห์นสัน ที่ใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้านหลังตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ทั่วโลกที่กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น วัคซีนเริ่มมีการกระจายแพร่หลาย ยารักษาไวรัสก็ค่อยๆ เริ่มเดินหน้าการผลิต ควบคู่ไปกับยอดผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด กลไกอย่าง “Home Isolation” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดภาระของหน่วยงานทางการแพทย์ กลับเป็นโอกาสใหม่ของแวดวงสาธารณสุขที่จะสามารถไปได้ไกลกว่าเรื่องของโควิด-19

นั่นก็เพราะเทรนด์ใหม่ของแวดวงสุขภาพอันเป็นผลพวงมาจาก Home Isolation ก็คือ “บ้าน สามารถที่จะเป็นศูนย์กลางสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยภายในนั้นได้”

เปลี่ยน ‘บ้าน’ เป็น ‘รพ.’ ด้วยเทคโนโลยี

ทุกวันนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ผู้ใช้บริการ” ในระบบสุขภาพนั้น ไม่ได้จำกัดแต่ตัว “ผู้ป่วย” เพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันผู้ใช้บริการสุขภาพอาจเป็น “ผู้จ่าย” ที่มาในรูปแบบของสมาชิกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ลูก หลาน ที่ต่างเป็นผู้ใช้บริการในฐานะผู้จ่าย ให้กับผู้ใช้บริการตัวจริงคือผู้ป่วย

ในบรรดาทั้งหมด สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการจึงไม่ต่างจากการใช้บริการอื่นๆ ในชีวิต เพราะพวกเขาต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็ว และตอบโจทย์ตรงกับความต้องการมากที่สุด ไม่ว่าผู้ใช้บริการนั้นจะเป็นตัวผู้ป่วย หรือผู้จ่ายที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วย ดังนั้นการให้บริการในระบบสุขภาพจึงต้องตอบสนองแก่ผู้ใช้บริการรอบด้าน ทั้งความพึงพอใจของผู้ป่วย ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยให้ตรงกับความต้องการของผู้จ่าย

...และการสนองตอบสิ่งเหล่านี้ ตัวช่วยที่ดีที่สุดในปัจจุบันก็คือ “เทคโนโลยี”

อาจเป็นเรื่องที่โชคดีแบบพอเหมาะพอเจาะ ในเมื่อช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีผู้คนหันมาสมัครใจที่จะให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์มากขึ้น ด้วยเหตุผลหลักคือเพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามความเสี่ยงทางสุขภาพของพวกเขาจากโควิด-19 ได้

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ผู้ที่รับการดูแลในระบบ Home Isolation เป็นกลุ่มที่เปิดเผยข้อมูลมากที่สุด เพื่อที่จะให้หน่วยบริการสามารถดูแลพวกเขาจากพื้นที่ห่างไกล โดยสามารถรับรู้ถึงสถานะทางสุขภาพของพวกเขาได้อย่างครบถ้วน

หากมองในเชิงสถิติ เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว พบว่าในช่วงปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกของการระบาด มีชาวอเมริกันกว่า 42% ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อติดตามการออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพตนเอง ขณะที่อีก 28% ใช้เทคโนโลยีในการสอดส่องและดูแลปัญหาทางสุขภาพ โดยแนวโน้มเหล่านี้ก็จะสูงขึ้นอีกตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป

จากเทรนด์ที่เราเห็นจะพบได้ว่าประตูแห่งโอกาสบานใหญ่ได้เปิดขึ้นแล้ว เพราะนับจากจุดนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐ หรือแม้กระทั่งองค์กรเอกชน ก็สามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานได้มากกว่าการเฝ้าติดตามเพียงเรื่องของโควิด-19 ที่ใช้ Telemedicine ติดตามผู้ป่วย Home Isolation

หากแต่การบริการงานสุขภาพจากนี้ไป จะสามารถนำข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้มาทำการประเมินหรือติดตามเพื่อดูแลสุขภาพของผู้ใช้บริการได้อย่างรอบด้าน และลดความจำเป็นของผู้ใช้บริการที่จะต้องเดินทางไปถึงหน่วยบริการเพื่อพบแพทย์ อันจะช่วยลดภาระของหน่วยบริการลงไปได้อย่างมหาศาลด้วยเช่นกัน

นี่ยังไม่นับรวมถึงการลดปัญหาจากความผิดพลาด หรือความเข้าใจผิดในเรื่องสุขภาพของผู้คนได้อีกด้วย เพราะเมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติ ผู้คนอาจเกิดอาการ “คิดไปเอง” ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอะไรบางอย่างหรือไม่ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่อาการ “ไฮโปคอนเดรีย” (Hypochondria) หรือโรคที่วิตกกังวลกับความเจ็บป่วยจนเกินจริง ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพและสังคมอีกหลายประการ

เมื่อ ‘ข้อมูล’ กลายเป็นหัวใจของการดูแล

การนำข้อมูลทางดิจิทัลมาใช้ยังสามารถช่วยลดความโกลาหลที่เกิดขึ้นท่ามกลางโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาที่เราได้เห็นข่าวประหลาดๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ไปจนถึงโรคร้ายอื่นๆ ที่ล้วนเป็น “ข่าวปลอม” หรือข่าวที่เกิดมาจาก “ความเข้าใจผิด” อยู่จำนวนมาก ซึ่งเฉพาะในปี 2020 ปีเดียว ก็มีข่าวปลอมหรือข่าวที่มาจากความเข้าใจผิด เผยแพร่ออกไปสู่ผู้คนมากมายถึง 1.26 แสนข่าวเลยทีเดียว

ฉะนั้นการใช้ข้อมูลดิจิทัลอย่างรอบด้าน จะทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถแก้ไข หรือสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้คนได้อย่างน่าเชื่อถือมากกว่าที่เคยเป็นมา

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ สามารถนำไปสู่บทสรุปในการเปลี่ยนแปลงระบบบริการสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพของคนได้ นั่นคือการทำให้ “บ้าน” กลายเป็นพื้นที่ของบริการทางสุขภาพได้อีกครั้ง ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต ที่ “หมอ” จะเดินทางไปให้บริการต่างๆ ตามบ้าน ตั้งแต่การตรวจสุขภาพ ไปจนถึงการรักษาพยาบาลบางประการ ซึ่งกิจการนี้ได้หายไปเมื่อการตรวจรักษาในโลกการแพทย์สมัยใหม่ เกินกว่าความสามารถของหมอรายเดียว เช่น การต้องตรวจเลือด ถ่ายภาพรังสี หรือวัดค่าต่างๆ ในร่างกาย

หากแต่การให้บริการในลักษณะคล้ายกันนี้จะสามารถกลับมาได้อีกครั้ง โดยที่ครั้งนี้หมอไม่ต้องหิ้วกระเป๋าไปตามบ้านอีกต่อไป แต่ผู้ใช้บริการจะสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลทางสุขภาพแบบดิจิทัล และส่งผ่านข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผล ไปพร้อมกับการมีแพทย์มาเคาะประตูหน้าบ้านผ่านระบบ Telemedicine

คงไม่ต้องย้ำว่าระบบบริการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ที่บ้าน และอาศัยเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งนี่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครบถ้วน และนอกจากการรับบริการทางไกลแล้ว การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่ทำให้ข้อมูลทั้งหลายมาอยู่ในระบบดิจิทัล ก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อ “ผู้ดูแล” ในการนำข้อมูลเหล่านี้ไปให้บริการ “ผู้ป่วย” ที่บ้าน

เพราะยังปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ระบบการพบแพทย์ทางไกลจะสะดวกมากขึ้น แต่การดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดย “ผู้ดูแล” หรือ “Caregiver” ที่เป็นบุคลากรทางแพทย์ ก็ยังคงมีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางราย เช่น มีอาการติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีโรคชรา ซึ่งแม้ที่ผ่านมาผู้ดูแลเหล่านี้จะอยู่ใกล้ชิด แต่ก็อาจจะยังขาด “ข้อมูล” ที่แท้จริงเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยที่พวกเขาดูแลอยู่

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่สามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยได้อย่างรอบด้าน นอกจากจะสะดวกกับแพทย์แล้ว ยังจะสามาถทำให้ผู้ดูแล ได้รับรู้ถึงสิ่งที่ควรจะเป็นกับผู้ป่วยที่ตนเองดูแลอยู่ ตั้งแต่เรื่องของโภชนาการ ปริมาณยาที่ต้องให้ ไปจนถึงอาการพึงระวังต่างๆ เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ขณะเดียวกันนี่ยังอาจไปได้ไกลถึงระบบการให้บริการจัดหางานผู้ดูแลได้อีกด้วย เพราะเมื่อมี “ข้อมูล” ทั้งหมดอยู่ในมือ ผู้ให้บริการก็สามารถใช้ข้อมูลมาประเมินได้ว่าผู้ป่วย หรือที่ต้องการความช่วยเหลือในบ้านนั้นๆ จะต้องการคุณลักษณะของผู้ดูแลอย่างไร มีความสามารถเพียงพอต่อความต้องการนั้นหรือไม่

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของการให้บริการสุขภาพ เมื่อโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้บริการเปลี่ยนไป ผู้ให้บริการก็จะต้องปรับตัวตามไปด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการสร้างโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้บริการด้านสุขภาพสามารถครอบคลุม และเข้าถึงทุกคนได้ แม้ตัวเขาจะอยู่แค่เพียงภายในบ้าน

อ้างอิง
https://quilhealth.com/homes-as-healthcare-hubs/
https://www.businesswire.com/news/home/20200218005006/en/75-of-U.S.-Consumers-Wish-Their-Healthcare-Experiences-Were-More-Personalized-Redpoint-Global-Survey-Reveals
https://www.pewresearch.org/internet/2021/02/18/experts-say-the-new-normal-in-2025-will-be-far-more-tech-driven-presenting-more-big-challenges/
https://www.forbes.com/sites/intelai/2019/02/11/the-benefits-of-moving-healthcare-closer-to-home/?sh=1fbe48d5a76f
https://www.philips.com/a-w/about/news/archive/blogs/innovation-matters/2020/20200623-six-ways-healthcare-will-move-into-our-homes.html
https://www.cambiahealth.com/sites/default/files/cambia-files/resources/Cambia%20Wired%20for%20Care%20Whitepaper.pdf