ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคหัวใจเป็นภัยสุขภาพที่อันตรายร้ายแรง มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองสูงมาก และงานวิจัยล่าสุดจากโรงพยาบาล Houston Methodist ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าความเสี่ยงต่ออันตรายจะยิ่งมีมาก เมื่อร่างกายของเราเป็น “ไข้หวัด”

จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the American Heart Association วันที่ 15 ต.ค. 2021 ระบุว่า ประชากรอเมริกันที่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวและไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจและได้รับวัคซีน

อัตราการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่อเมริกันที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี และเป็นโรคหัวใจนั้นมีน้อยกว่า 50% จากกลุ่มประชากรนี้ทั้งหมด

ปรียันกา บูห์กรา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์และหัวหน้าทีมวิจัยนี้ กล่าวว่า ดูเหมือนชาวอเมริกันที่อายุน้อยและเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองมักจะละเลยความสำคัญและละเลยที่จะเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เมื่อเทียบกับประชากรที่สูงวัยกว่า ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่อันตราย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ไข้หวัดใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับอาการเหล่านั้นอย่างชัดเจน

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ไข้หวัดสามารถนำไปสู่อาการทางระบบทางเดินหายใจต่างๆ ได้ เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือปอดติดเชื้อ แต่กับหัวใจนั้นก่อนหน้านี่ยังไม่มีความชัดเจนใดมากนักว่าเกี่ยวข้องกับไข้หวัดอย่างไร ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจมักจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดอาการบางอย่างกับหัวใจในช่วงก่อนและหลังการติดเชื้อ

แต่ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนของไข้หวัดและโรคหัวใจ อาทิ เช่น
1. อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจะพุ่งสูงขึ้นพร้อมๆ กับช่วงที่มีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด
2. ผู้ป่วยมักจะประสบกับอาการหัวใจวายหนึ่งสัปดาห์หลังจากติดไวรัสไข้หวัดใหญ่มากกว่าช่วงอื่นๆ ถึง6เท่า
3. 11.5% ของผู้ป่วย 336,000 ราย ที่เข้ารับการรักษาไข้หวัดในโรงพยาบาลจะพบกับอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจขั้นรุนแรง
4. จากการทดสอบเพื่อยืนยันในห้องทดลอง 11.7% ของการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะนำไปสู่อาการเกี่ยวกับหัวใจขั้นรุนแรง

เหตุผลที่ไข้หวัดใหญ่ก่อให้เกิดความอันตรายกับหัวใจ ก็เป็นเพราะว่าไข้หวัดใหญ่ทำให้ร่ายกายต้องทำงานหนักในการสู้กับไวรัส และยังรวมถึงอาการอักเสบต่างๆ จึงทำให้หัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานหนัก

อาการอักเสบนั้นเกิดขึ้นเมื่อเม็ดเลือดขาวในร่างกายทำการตอบสนองต่อไวรัส โดยเม็ดเลือดขาวจะถูกผลิตในบริเวณที่ร่างกายเกิดปัญหาและทำการต่อสู้กับไวรัสหรือแบคทีเรียเหล่านั้น ซึ่งผลจากการ “ต่อสู้” มีได้ เช่น เจ็บคอ ปวดหัว ปวดเนื้อปวดตัว คัดจมูก เหนื่อยล้า เป็นต้น

และการที่เม็ดเลือดขาวเหล่านั้นระดมไปสู้กับสิ่งแปลกปลอมอย่างไวรัสหรือแบคทีเรีย ก็ก่อให้เกิดอาการภาวะลิ่มเลือดอันส่งผลให้ความดันสูงขึ้นและเลือดไหลเวียนได้ลำบาก ทั้งหมดนี่เองที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่พอ

นอกจากนี้ อาการอย่างปอดบวมและระบบทางเดินหายใจล้มเหลวก็ส่งผลเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดเช่นเดียวกันและสามารถนำไปสู่อาการอันตรายของหัวใจได้เช่นเดียวกับไข้หวัด

ทั้งหมดทั้งมวลนี้สามารถสรุปได้ง่ายๆ ว่า อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากไข้หวัดทั้งหลายเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่แข็งแรง

สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น แม้จะให้ผลการป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้เพียงแค่ 40% โดยเฉลี่ย และไวรัสก็ “กลายพันธุ์” ในทุกๆ ปี อันเป็นผลให้เหล่าบรรดานักวิจัยต้องศึกษาและผลิตวัคซีนให้ทันกับการกลายพันธุ์ แต่ก็เป็นการดีกว่าที่จะรับวัคซีน เพราะ 40% ก็เพียงพอต่อการลดความเสี่ยงของอาการเจ็บป่วย และควรที่จะต้องเข้ารับวัคซีนเป็นประจำทุกปี

ซึ่งจากผลการศึกษาของงานชิ้นนี้ก็ได้เผยว่า ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 2 ถึง 65 ปี ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี นอกจากการป้องกันไวรัสแล้ว ความเสี่ยงต่อภาวะอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจอาทิเช่น
1. ผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนแล้วนั้น มีน้อยกว่า 37% ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ 82% จะไม่ต้องเข้าห้อง ICU และนอกจากนี้ ผู้ป่วย ICU ที่ได้รับวัคซีนจะอยู่ในห้อง ICU น้อยวันกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
2. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะเหลือความเสี่ยงเพียงแค่ 2.9% ต่อภาวะอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด
3. ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หลังจากออกจากโรงพยาบาลจะพบกับอาการต่าง ๆ ของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือแม้กระทั่งหัวใจวาย น้อยลง มีความเสี่ยงเหลือเพียงแค่ 9.5% เท่านั้นที่จะเกิดขึ้น

จากตัวเลขข้างต้น ทำให้เห็นว่าการได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น มีผลดีต่อร่างกายไปไกลกว่าเพียงแค่การป้องกันไข้หวัดประจำปี ซึ่งไม่นานมานี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกประกาศให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดควรเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

สำหรับในประเทศไทย สถิติของผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นกว่า 430,000 รายต่อปี เสียชีวิต 58,681 ต่อปี

นับเป็น 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน

สาเหตุก็เหมือนกับที่ผู้คนในมุมอื่นของโลกประสบ ก็คือโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูงหรือมีโรคอ้วน, มีความเครียด, สูบบุหรี่, ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

ซึ่งการหลีกลี้หนีไกลจากโรคนี้ ก็คือสิ่งตรงกันข้ามกับสาเหตุข้างต้น ดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย งดเว้นจากบุหรี่ ความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ

ในด้านของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในเวลานี้ (18 ตุลาคม 2021) ตามสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคนไทย (บัตรทอง) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้สิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  ได้แก่

1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)
4. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 
7. โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

นอกจากนี้ สปสช.ยังเพิ่มสิทธิให้แก่
1. บุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19
2. กลุ่มที่อยู่สถานที่มีการรวมตัวของประชากรจำนวนมาก เสี่ยงต่อการระบาด และ
3. กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นกับสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่อย่างไร คนไทยทุกก็ควรที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ

อ้างอิง
http://sciencedaily.com/releases/2021/10/211015184212.htm
https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-770778
https://www.bangkokbiznews.com/social/962925
https://www.thaipost.net/main/detail/118253
https://www.nhso.go.th/news/3268
https://www.houstonmethodist.org/blog/articles/2021/oct/flu-and-heart-disease-the-surprising-connection-that-should-convince-you-to-schedule-your-shot/
https://www.ahajournals.org/doi/10.1161/JAHA.120.019671
https://en.x-mol.com/paper/article/1420512928103227392
https://www.pharmacytimes.com/view/influenza-vaccination-reduces-risk-of-serious-cardiac-events