ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจก ATK ให้อาจารย์-บุคลากร ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย จำนวน 200 คน ใช้คัดกรองโควิด-19 เพื่อใช้เตรียมเปิดภาคเรียน หวังสร้างความมั่นใจผู้ปกครอง-นักเรียน พร้อมเตรียมกระจาย 3 แสนชุด ในโรงเรียน 600 แห่งทั่ว กทม.


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. และ ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เยี่ยมชมการดำเนินการแจกชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) สำหรับอาจารย์-บุคลากร โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เขตวัฒนา กทม. เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 เพื่อใช้ตรวจคัดกรองโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองและนักเรียน สำหรับการกลับมาเรียนในรูปแบบ On-site

ดร.พัชราภรณ์ ดวงชื่น ผู้จัดการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมีกำหนดเปิดภาคเรียนแบบ Online ในวันที่ 26 พ.ย. 2564 และหากผ่านมาตรการ sandbox safety zone in school ก็จะเปิดให้นักเรียนเข้ามาเรียนในสถานศึกษา หรือ On-site ในวันที่ 29 พ.ย. 2564 โดยโรงเรียนจะต้องได้รับการอนุมัติจากทางภาครัฐในการดำเนินการเปิดสถานศึกษาก่อน เพื่อให้นักเรียนสามารถอยู่ในสถานศึกษาอย่างปลอดภัย เนื่องจากโรงเรียนมีนักเรียนประจำด้วย

อย่างไรก็ดี ทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่ ทั้งบริเวณโรงเรียน รวมไปถึงที่พักของนักเรียนประจำ โดยจะมีแม่บ้านคอยทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวเด็กอยู่ตลอด นอกจากนี้อาจารย์และบุคลากรของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยได้รับวัคซีน รวมฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 98% ของบุคลากรทั้งหมด ขณะที่นักเรียนก็ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วราว 80% ของนักเรียนทั้งหมด

“ทางโรงเรียนมีการจัดเตรียมทีมพยาบาล และแผนเผชิญเหตุ รองรับโดยหน่วยบริการที่โรงเรียนติดต่อไว้ เช่น โรงพยาบาลเมดพาร์ค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ คริสเตียน และโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท” ดร.พัชราภรณ์ ระบุ

ดร.พัชราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเปิดภาคเรียนครั้งแรกอาจจะใช้วิธีคัดกรอง 100% แต่หลังจากนั้นอาจจะใช้วิธีการสุ่มคัดกรองประมาณ 10-20% ตามที่ภาครัฐได้ให้มาตรการไว้กับทางโรงเรียน เพราะการที่นักเรียน-อาจารย์-บุคลากรได้รับวัคซีนแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ ฉะนั้นก็มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด

นางสุภลักษณ์ ไชยสถาน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้มีการสอบถามความสมัครใจไปยังผู้ครองในกรณีที่นักเรียนจะต้องเดินทางมาเรียนในลักษณะ On-site ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการสรุปผล แต่จากการพูดคุยเบื้องต้นกับสมาคมผู้ปกครองก็ได้รับความเห็น ทั้งเห็นด้วยกับการเรียน Online และ On-site แต่ก็ยังมีข้อกังวลสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนจึงได้มีการจัดการเรียนการสอนสลับกันทั้ง Online และ On-site ในภาคเรียนนี้ เพื่อที่จะกระจายนักเรียนไม่ให้เกิดความแออัด งดวิชาว่ายน้ำเพราะมีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงมีการจัดสรรกลุ่มสำหรับทำกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน

ขณะที่ นายศรัณยู ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และกลุ่มบริษัทในเครือ กล่าวว่า โรงเรียนถือเป็นเป้าหมายของ สปสช. ที่ต้องการให้อาจารย์-บุคลากรได้รับชุดตรวจ ATK เพื่อใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งทางคลินิกกล้วยน้ำไทก็เป็นโรงพยาบาลที่ได้ร่วมมือกับ สปสช. อยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ทางคลินิกก็ยังได้ให้คำแนะนำ-วิธีการใช้ชุดตรวจที่ถูกต้องแก่อาจารย์-บุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากเมื่อมีการเรียนการสอนเกิดขึ้น อาจารย์ก็จะเป็นผู้ที่ต้องแนะนำวิธีให้นักเรียนสามารถใช้ชุดตรวจ ATK ได้อย่างถูกต้อง

“คลินิกกล้วยน้ำไทมีประมาณ 30 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งสาขาที่อยู่ใกล้โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่สุด ก็คือสาขาอโศก ฉะนั้นคลินิกก็พร้อมที่จะเข้ามาดูแล หากพบผลตรวจเป็นบวก ซึ่งที่ผ่านมาคลินิกกล้วยน้ำไทก็ได้มีการรองรับการรักษา ทั้งการรักษาตัวด้วยตนเองที่บ้าน (Home isolation) Hospitel และในโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท” นายศรัณยู กล่าว 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เท่าที่ดูสถานการณ์โควิด-19 ในเขต กทม. มีแนวโน้มอัตราการป่วย-เสียชีวิตที่ลดลง แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะมีการเปิดภาคเรียนให้เด็กนักเรียนสามารถเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้ ฉะนั้นการเข้าถึงชุดตรวจ ATK จะเป็นกลวิธีที่จะเข้ามาดูแล ป้องกัน และเฝ้าระวังเมื่อมีการเปิดภาคเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา ซึ่งถ้าหากมีการติดเชื้อก็จะสามารถดูแล-ให้การรักษาอย่างทันท่วงที

“เราคาดหวังว่าไม่อยากให้มีใครต้องติดเชื้อ แต่เราก็ต้องเฝ้าระวัง เครื่องมือที่เรามี ชุดตรวจ ATK เป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้ร่วมกันที่อยากจะกระจายไปให้พี่น้องประชาชนได้ตรวจ” นพ.จเด็จ กล่าว 

สำหรับการตรวจ จะเป็นการสุ่มตรวจเป็นหลัก แต่หากตรวจพบแล้วว่ามีผลบวกในโรงเรียน ก็อาจจะต้องมีการระดมตรวจอีกครั้ง ซึ่งโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่เข้ามาผูกกับโรงเรียนจะเป็นหน่วยที่จะต้องรับผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันว่าถ้าให้ยา-รักษาเร็ว การเปลี่ยนเป็นกลุ่มอาการที่รุนแรงก็จะลดลง

“แม้จะมีข้อมูลว่าในเด็กอุบัติการณ์การป่วยหนักจะน้อย แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง และให้การรักษาที่รวดเร็ว อย่างทันท่วงที เพราะส่วนหนึ่งของเด็กอาจจะแพร่กระจายไปยังครอบครัวได้ ดังนั้นตรงนี้หน่วยบริการจะต้องมาผูกกับโรงเรียนทุกโรงเรียนไว้” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การแจก ATK ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ กทม. จะมีการแจกทั้งหมด 3 แสนชุด สำหรับโรงเรียนกว่า 600 แห่ง โดยจะมีคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่ายของ สปสช. ที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานศึกษานั้นๆ เข้าไปดำเนินการแจกให้ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สปสช.รับความร่วมมือจากคลินิกเคสหคลินิกในเครือโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท มาตั้งจุดกระจาย ATK ให้ที่โรงเรียน โดยจะแจกแก่ครู อาจารย์ และบุคลากรอื่นๆ ของโรงเรียนรวมกว่า 200 คน