ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอาดิวัยรุ่น! ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ประเทศไทยทุกวันนี้มีการซื้อขายยาเสพติดผ่านทางออนไลน์ โดยใช้ “คริปโตเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) แล้ว ซึ่งตำรวจเพิ่งจับกุมไป

ปัญหายาเสพติดทุกวันนี้ บอกเลยว่าสุดโหด ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี คือกลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในรอบปีที่ผ่านมามากที่สุด

รองลงมาคือ อายุระหว่าง 25-29 ปี และ 30-34 ปี

สำหรับยาเสพติดยอดนิยมครองใจมหาชน ได้แก่ “ยาบ้า” และ “กลุ่มแอมเฟตามีน” รองลงมาคือ “ยาไอซ์”

ที่ผ่านมา ประเทศไทยแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธี “ปราบปราม” แต่ก็ไม่ได้ผล ปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วยการ “รักษา-บำบัด”

ทว่า แนวทางใหม่ล่าสุดในขณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาจาก “กระบวนการภายในของผู้ติดยาเสพติด” ผ่านโปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญา (Acceptance Commitment Therapy หรือ ACT)

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) บอกว่า การแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องใดจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น กลุ่มเยาวชนหรือวัยรุ่น เรามักจะพบว่าเป็นกลุ่มที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ โดยการตัดสินใจส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล

ทั้งนี้ หากมองในด้านกายภาพ สมองส่วนหน้าของวัยรุ่นซึ่งเป็นส่วนควบคุมและประมวลความคิดเชิงระบบหรือการคิดเชิงตรรกะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออายุ 20-25 ปี แต่ขณะที่สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ พฤติกรรมจะพัฒนาเร็วกว่า

นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้สารเสพติดของเยาวชน เช่น ปัญหาการดูแลและความรุนแรงในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและคนในชุมชน เช่น กรณีการถูกกลั่นแกล้งจากคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (Bully) อาจส่งผลให้เยาวชนที่ถูกกระทำ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ

ทั้งนี้ เยาวชนอายุ 12-17 ปี มักเริ่มต้นด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ และ อายุ 18-25 ปี จะมีทั้งดื่มแอลกอฮอล์และติดยาเสพติด ดังนั้นกรอบทิศทางการวิจัย ควรเป็นไปเพื่อดูแลและช่วยเหลือเยาวชนที่ใช้สารเสพติดให้กลับสู่สังคม

งานเสวนาหัวข้อ “ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธะสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด” ที่เพิ่งจัดขึ้นไปโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้พูดถึงข้อเสนอข้างต้น ผ่านโครงการ ACT

แล้วอะไรคือ ACT นะหรือ !!?

ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะเครือข่ายนักวิจัย สวรส. อธิบายว่า ACT เป็นโปรแกรมที่ลงมือทำผ่าน 8 กิจกรรม ใน 4 สัปดาห์ มุ่งเน้นสร้างความยืดหยุ่นให้ชีวิต และสร้างความตั้งใจในการเลิกเสพยา บนแนวคิดอยู่กับปัจจุบันขณะ การเปิดใจยอมรับ การปลดปล่อยความคิดที่ยึดติด รับรู้ถึงตัวตนที่สังเกตเห็นหรือรู้ทันการเปลี่ยนแปลง รับรู้คุณค่าในตัวเองและใช้คุณค่านำการกระทำสู่เป้าหมายชีวิตแบบมีพันธะสัญญากับตนเอง

โปรแกรม ACT เป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาที่ช่วยให้เกิดการสร้างวิธีคิดวิธีมองชีวิตแบบใหม่ให้กับเยาวชน เพื่อให้เกิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ และเพิ่มความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตในสังคม

ปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้บำบัดผู้ใช้สารเสพติด ให้ความเห็นว่า โปรแกรม ACT ช่วยสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถแก้ปัญหาพึ่งพาตนเองได้ สู้กับวิกฤตอย่างมีความพร้อม มีความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น เปิดใจยอมรับ และมีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะมาบำบัดมากขึ้น และรับผิดชอบต่อพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บำบัดอย่างจริงจัง