ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บาดแผลทางจิตใจเกิดขึ้นแล้วกับคนทั่วโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องในช่วง 2 ปีมานี้ แม้ว่าจะมีวัคซีน หรือการคิดค้นยาสูตรใหม่ๆ หากแต่นั่นก็เป็นไปเพื่อต่อสู้กับเชื้อที่เข้ามาทำร้ายร่างกาย ส่วนทางด้านจิตใจ คนทุกคนต่างบอบช้ำ

ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2020 แสดงให้เห็นว่า โควิด-19 ส่งผลต่อสภาพจิตใจในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว กลุ่มคนผิวสี และกลุ่มคนวัยทำงานในกิจการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพของ CDC ถึงกับระบุว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีอัตราการใช้สารเสพติดเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย     

“มันค่อนข้างเครียด เมื่อคุณยังเป็นเด็กและต้องพบเจอกับสถานการณ์แบบนี้ สถานการณ์ที่ไม่เคยเห็น หรือได้ยินมาก่อน เช่น การเห็นข่าวการแพร่ระบาด หรือการต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่ากลัวและหดหู่” เทย์ชา เลซีย์ นักเรียนที่กำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต ระบุ

“ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดความวิตกกังวลในเรื่องใดหนึ่งหนึ่งมากขึ้น” ดร.ดักลาส คาร์สัน นายแพทย์ผู้อำนวยการ HSHS โรงพยาบาลเด็กเซนต์จอห์น รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ระบุ

ดร. ดักลาส กล่าวอย่างชัดเจนว่า หนึ่งในเหตุผลที่ของการเกิดภาวะเครียด หรือซึมเศร้า คือจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนเสียชีวิตทุกวัน

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุถึงปัญหาสุขภาพจิต เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2564 ไว้ว่า เป็นเวลากว่า 18 เดือนตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าในบางประเทศจะสามารถกลับไปชีวิตปกติได้แล้ว แต่ในบางประเทศก็ยังมีการแพร่ระบาดจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทั้งในครอบครัว และชุมชน

สำหรับการแพร่ระบาดนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนในบางกลุ่ม เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า นักเรียน-นักศึกษา รวมไปถึงกลุ่มคนที่อาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก่อนแล้ว

จากการประชุมคณะกรรมาธิการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ครั้งที่ 71 (71st session of the WHO Regional Committee for Europe (virtual)) เมื่อวันที่ 13-15 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่า “เป็นวิกฤต” ย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด ประชากรราว 150 ล้านคน ในภูมิภาค กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต มากไปกว่านั้นพบว่าจากผู้ที่ประสบปัญหา มีน้อยคนที่ได้เข้ารับการรักษา

แน่นอนว่าโควิด -19 ก็ยิ่งเป็นการกระทุ้งปัญหาดังกล่าวให้เลวร้ายขึ้น

รัฐสมาชิกจึงรับมติตามกรอบการปฏิบัติการด้านสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป (WHO European Framework for Action on Mental Health 2021–2025) ให้ผนวกปัญหาสุขภาพจิต “เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยเน้นไปที่งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการบริการ และให้ผู้ที่ต้องการรับบริการมากที่สุดสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถมีเครื่องมือสำหรับจัดการกับสุขภาพจิตที่ตนเผชิญและช่วยเหลือผู้อื่นได้

 ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุผ่านการจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลกประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2564 ว่า กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการติดตามผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบ “Mental Health Check In”  หรือ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ “วัดใจ”

 จากผลการวัดใจของประชาชนในช่วงเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้นถือเป็นช่วงที่ประชาชน “มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสุด” ตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติ โดยมีภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6%

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีมากขึ้น โดยในเดือน ก.ย. 2564 พบว่า มีภาวะเครียดสูง 14.2% เสี่ยงซึมเศร้า 16.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.1% และมีภาวะหมดไฟ 6.0%

ขณะเดียวกันนั้น “ยังไม่ถือว่าลดต่ำลงจนถึงระดับปกติ” ซึ่งในช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด โดยมีภาวะเครียดสูง 2.2% เสี่ยงซึมเศร้า 2.8% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1.2% และมีภาวะหมดไฟ 4.2%

“การสำรวจด้านสุขภาพจิตนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประชาชนสามารถวัดใจตัวเองได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยกรมสุขภาพจิตวางแผนจะดำเนินการร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อบูรณาการการวัดใจให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมกับระบบ 3 หมอที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน” พญ.อัมพร ระบุ

ด้าน นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า จากที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ลงนาม ในบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัดว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อคัดกรอง และค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน อันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 โดยใช้เครื่องมือที่ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อใช้คัดกรองประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ผ่าน “แอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์”

อย่างไรก็ดี อสม. ได้นำเครื่องมือการคัดกรองสุขภาพจิตลงไปคัดกรองประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในระหว่างเดือน พ.ย. 2563 ถึงเดือน ก.ย. 2564 จำนวน 1,010,632 คน พบว่า ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2564

จากข้อมูลดังกล่าว ก็ได้มีการประสานส่งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่โดยใช้กลไก 3 หมอ (หมอประจำบ้าน หรือ อสม. หมอสาธารณสุข หมอครอบครัว) ให้การดูแล ช่วยเหลือ ฟื้นฟูสุขภาพใจของประชาชนได้ในพื้นที่แบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ

สำหรับการให้ อสม. เข้ามาดูแล “วัดสุขภาพใจของประชาชน” ในชุมชน เป็นการดูแลสุขภาพประชาชนแบบองค์รวม และรอบด้าน เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage)

ที่มา
https://www.who.int/campaigns/world-mental-health-day/2021/about
https://foxillinois.com/news/local/covid-19-taking-a-toll-on-more-peoples-mental-health-new-report-from-cdc-says
https://www.sdgmove.com/2021/09/21/53-member-states-who-european-regional-on-health-agreements/