ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“การนวด” ถูกใช้ในการผ่อนคลายและรักษาอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อมานานกว่า 3,000 ปี แล้ว โดยเฉพาะปัจจุบันที่การนวดถูกผูกเข้ากับเทคโนโลยีการกีฬา เราจึงเห็นนักกีฬาอาชีพนวดผ่อนคลายร่างกายหลังจากใช้งานหนัก และต้องมีเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนวดประจำตัว

นอกจากความผ่อนคลาย การนวดยังให้อะไรที่มากกว่า !!?

งานศึกษาชิ้นล่าสุดจาก Harvard's Wyss Institute for Biologically Inspired Engineering และ John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences (SEAS) ระบุว่า นอกจากการผ่อนคลายแล้ว การนวดยังสามารถกระตุ้นการรักษา “อาการบาดเจ็บ” ของกล้ามเนื้อได้จริง ด้วยการใช้ “หุ่นยนต์” นวด

งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน Science Translational Medicine ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ระบุไว้ว่า ด้วยการทดลองในหนูด้วยระบบหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นมาใหม่อันสามารถที่จะกำหนดแรงกดได้อย่างละเอียด ทำให้สามารถกำจัดเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลออกจากกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บได้ และสามารถรักษาอาการอักเสบในกล้ามเนื้อได้

การ “นวด” ส่งผลให้โดยรวมกล้ามเนื้อนั้นสามารถที่จะฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม

โบ รี ซอ หนึ่งในทีมวิจัยเล่าว่า ผู้คนจำนวนมากพยายามศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการนวดและการใช้เครื่องมือในการช่วยนวดต่อร่างกาย แต่ก็ยังไม่มีการจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ แต่งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการใช้เครื่องมือในการนวดกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งก่อให้เกิดผลในการฟื้นตัวของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อต่างๆ เช่น กระดูก เส้นเอ็น เส้นผม หรือแม้กระทั่งผิวหนัง การค้นพบนี้ยังสามารถนำไปสู่การลดใช้ยาเพื่อรักษาอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การค้นพบครั้งนี้เกิดจากการที่ทีมวิจัยเริ่มทำการศึกษาผลของการใช้เครื่องมือนวดกับอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆ ในหนูทดลองเมื่อหลายปีก่อน และก็ค้นพบว่าหนูที่ได้รับการนวดด้วยเครื่องมือมีอัตราการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อสูงขึ้น และมีอัตราการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อยลง

ทีมวิจัยจึงต่อยอดไปสู่การนำมาค้นหาต่อว่า ถ้าเป็นร่างกายมนุษย์จะเป็นอย่างไรเมื่อใช้วิธีการเดียวกัน และจะทำอย่างไร

บรรดานักวิจัยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จึงทำการสร้างอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับและคุมแรงกดที่ใช้ในการนวดเพื่อมาลองใช้กับหนูทดลอง ซึ่งอุปกรณ์นี้สามารถที่จะกำหนดแรงนวดและจำนวนครั้งที่ลงน้ำหนักได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม ซึ่งทำให้การนวดนั้นกระทำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

ในการทดลอง ทีมวิจัยได้ทำการนำอุปกรณ์มานวดที่ขาของหนู และทำการตรวจจับว่าผลที่ได้รับเป็นอย่างไร กล้ามเนื้อตอบสนองอย่างไร ผลที่ได้ก็คือกล้ามเนื้อที่ได้รับการนวดอย่างเป็นระบบมีความตึงเกิดขึ้นในระดับระหว่าง 10 – 40% และนำข้อมูลความตึงของกล้ามเนื้อในระหว่างการทดลองไปทำแบบจำลองเพื่อพยากรณ์ถึงความตึงของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับแรงกดที่ต่างกัน

จากการทดลอง “นวด” กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บต่อเนื่อง 14 วัน ผลที่ได้ก็คือการลดลงอย่างมากของอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ เส้นใยต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายไป กลายเป็นว่าการ “นวด” ด้วยหุ่นยนต์นั้นสามารถที่จะช่วยรักษาและเสริมสร้างการฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ต้องหาคำตอบต่อไปก็คือ การใช้เครื่องมือและวิทยาการมาทำการนวดนั้นส่งผลต่อการฟื้นตัวของกล้ามได้อย่างไร ?

เพื่อค้นหาส่วนที่หายไปตรงจุดนี้ ทีมวิจัยก็ศึกษาต่อไปที่การวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการอักเสบเช่น ไซโตไคน์ (Cytokines) หรือก็คือโปรตีนที่ใช้ในการสื่อสารภายในระบบภูมิคุ้มกัน และเคโมไคน์ (Chemokines) หรือกลุ่มโมเลกุลของโปรตีนที่มีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับการทำงานของเม็ดเลือดขาว

สิ่งที่พบก็คือ การลดลงของไซโตไคน์ในสามวันหลังจากการได้รับการนวดรักษาด้วยเครื่องมือหุ่นยนต์ ซึ่งไซโตไคน์เหล่านั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเซลส์ “นิวโตรฟิล” ที่มีบทบาทในการก่อให้เกิดการอักเสบ และเมื่อตรวจเข้าไปถึงนิวโตรฟิล ก็พบว่ามีนิวโตรฟิลลดลงอย่างมากในกล้ามเนื้อที่ได้รับการนวดรักษา แสดงให้เห็นว่าการลดลงของไซโตไคน์เกี่ยวข้องกับการลดลงของนิวโตรฟิลอย่างเห็นได้ชัด

การที่ไซโตไคน์และนิวโตรฟิลหายไปเป็นเพราะว่าการนวดด้วยเครื่องมือหุ่นยนต์ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการบีบตัวและผลักไซโตไคน์และนิวโตรฟิวออกมา และแม้ว่านิวโตรฟิลจะส่งผลต่อการกระตุ้นให้เกิดเซลส์กล้ามเนื้อขึ้นมาใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันก็ส่งผลให้เส้นใยกล้ามเนื้อใหม่ที่เกิดขึ้นถูกลดทอนประสิทธิภาพลง

สามวันหลังจากที่หนูทดลองถูก “นวด” เอาไซโตไคน์และนิวโทรฟิลออกไปจากกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อของหนูทดลองก็แสดงให้เห็นถึงเส้นใยกล้ามเนื้อที่เติบโตดีขึ้นและมีอัตรการฟื้นตัวที่สูงขึ้นกว่าปกติ นี่จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าไซโตไคน์และนิวโทรฟิลสำคัญต่อการรักฟื้นฟูรักษาร่างกาย แต่การรีบกำจัดมันออกไปแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นการดีกว่า

สเตฟานี แมคนามารา อีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า นิวโทรฟิลมีส่วนสำคัญในการกำจัดเชื้อโรคออกไป แต่ในทางกลับกันก็ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อไปพร้อมๆ กัน หรือก็คือนำไปสู่การอักเสบ และการอักเสบนั้นถ้าสามารถจัดการได้เร็วก็จะช่วยส่งให้การฟื้นตัวของกล้ามเนื้อที่เสียหายรวดเร็วมากขึ้น

ความสำเร็จในการค้นพบว่าการนวดด้วยเครื่องมือหุ่นยนต์นั้นมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บของทีมวิจัยนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงต้องนำกระบวนการและองค์ความรู้นี้ไปทดลองกับสัตว์ที่ใหญ่กว่านี้และมนุษย์ต่อไป เพื่อทำให้มันสามารถนำมารักษาได้จริง รวมถึงต่อยอดสู่การรักษาอาการอื่นๆ เช่น อาการบาดเจ็บในส่วนอื่นของร่างกาย อาการกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพอันเป็นผลของอายุที่มากขึ้น รวมไปถึงนำมาใช้ในการเสริมประสิทธิภาพในกล้ามเนื้อ

เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปในอนาคต การ “นวด” อาจจะไม่ใช่ทำเพื่อผ่อนคลายอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่การนวดอาจจะกลายเป็นวิธีการรักษาเพื่อสุขภาพที่ดีและยืนยาวของมนุษย์ต่อไป

อ้างอิง