ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักษาอาการ “หูหนวก” หรือการสูญเสียการได้ยิน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริงเป็นอย่ามาก แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีต

 ในปัจจุบัน แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ผู้หนึ่งได้ใช้ “เครื่องพิมพ์สามมิติ” ในการคืน “สรรพเสียง” ให้แก่ผู้คนได้อีกครั้ง

“มาชูดู ชิฟูลาโร” คือแพทย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์นั้นได้สำเร็จ

ว่าแต่แพทย์ผู้นี้เป็นใคร และทำไมถึงทำได้สำเร็จ ?

คุณหมอมาชูดู เกิดวันที่ 18 มิ.ย. 1964 เป็นบุตรคนที่สามของครอบครัวฐานะยากจนในหมู่บ้านชนบทที่มีชื่อว่า “มบาเฮลา” ของประเทศแอฟริกาใต้

เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กช่วยครอบครัวเลี้ยงสัตว์ในทุ่ง ก่อนที่จะรู้ตัวว่าอยากเป็นหมอตอนอายุ 13 ปี

หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนาทาล “มาชูดู” เริ่มต้นอาชีพแพทย์ในโรงพยาบาลชิลิดซีนีในปี 1990 จากนั้นก็ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกด้าน “หู คอ จมูก” (Otorhinolaryngology) ที่มหาวิทยาลัยเพโทรเรีย ตามด้วยเป็นหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เซฟาโก มากาโธ

พอถึงปี 2000 มาชูดู ชิฟูลาโร ก็เป็นแพทย์ผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก (ENT)

ความสามารถของเขาเป็นที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก เช่น การพัฒนาวิธีการผ่าตัด “คอหอย” และ “ทอมซิล” ที่เรียกว่า endoscope-assisted tonsillectomy อันเป็นการผ่าตัดที่จะไม่เกิดการเสียเลือดเลยได้เป็นคนแรกของโลก

“มาชูดู” ยังเป็นผู้ผลักดันให้มี “แพทย์ผิวดำ” และ “แพทย์เชื้อสายอินเดีย” เป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำวิทยาลัยศัลยศาสตร์และแผนก Otorhinolaryngology ของมหาวิทยาลัยเพโทรเรีย เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้คนอีกด้ว

นอกจากความเชี่ยวชาญและความสำเร็จในอาชีพแพทย์แล้ว เขายังมีอีกอาชีพหนึ่งคือการเป็น “พระ” (Pastor) และผู้ก่อตั้งของ Christ Revealed Fellowship Church

ความสำเร็จที่ถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์เขย่าวงการแพทย์ทั่วโลกนั้น เกิดขึ้นในปี 2019 เมื่อหมอมาชูดู ผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกหูให้กับคนไข้สองคนที่สูญเสียการได้ยินจากอาการบาดเจ็บด้วยอวัยวะพิมพ์สามมิติ

เคสประวัติศาสตร์นี้ เป็นการผ่าตัดให้กับชายวัย 40ปี ที่มีชื่อว่า ธาโบ โมชิลิวา ซึ่งสูญเสียกระดูกหูจากอาการบาดเจ็บ

เมื่อเคสถึงมือหมอมาชูดู คนไข้ถูกนำไปสแกนหูด้วยเครื่องแสกนสามมิติ และนำข้อมูลที่ได้มานั้นไปทำการประมวลเพื่อสร้างอวัยวะเทียมขึ้นมา

หมอมาชูดู อธิบายรายละเอียดของการผ่าตัดอันบันลือโลกครั้งนี้ว่า นวัตกรรมนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่าจะทำการสร้างกระดูกที่มีลักษณะ ขนาด ตำแหน่ง น้ำหนัก และความยาว ให้เหมือนกับส่วนที่เสียหายอยู่ในหู จากนั้นก็นำมันเข้าไปแทนที่ส่วนเดิมที่ใช้การไม่ได้แล้ว

การสร้างกระดูหู ค้อน ทั่ง โกลน เข้าไปแทนที่ของเดิมนั้น อันตรายและความเสี่ยงในการผ่าตัดน้อยกว่าวิธีการอื่นๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ โดยทั้งหมดนี้ก็เหมือนกับการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกทั่วไป

กระดูกหูที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น ทำมาจากไทเทเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงและเข้ากันได้กับร่างกายภายใน นอกจากนี้ในการผ่าตัด ทีมแพทย์ยังใช้วิธีการส่องกล้องเพื่อลดความเสียหายของอวัยะผู้ป่วย

ผลที่ได้หลังการผ่าตัดก็คือ ผู้ป่วยกลับมาตอบสนองต่อเสียง และ ”ได้ยิน” แทบจะในทันที แม้ว่ากว่าที่จะสมบูรณ์เต็มร้อยจะต้องใช้เวลาราวสองสัปดาห์ก็ตาม

แต่นี่ คือความสำเร็จครั้งสำคัญของมนุษยชาติ

สำหรับรายที่สองที่ได้รับการรักษานั้น คือชายวัย 62 ปี อันมีนามว่า ไซมอน โบฮาล ซึ่งเกิดมาพร้อมกับอาการผิดปกติทางการพัฒนาของกระดูกค้อน ทั่ง โกลน ในหูขวา ทำให้หูข้างขวาไม่ได้ยินเสียง และมีอาการเจ็บปวด

ที่ผ่านมาเขาได้ไปทำการรักษามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลยจนกระทั่งหมอมาชูดูสามารถทำการเปลี่ยนกระดูกหูด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติสำเร็จ

หมอมาชูดูได้เปลี่ยนชีวิตของโบฮาลไปตลอดกาล

สำหรับเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิตินั้น ถูกนำใช้กับวงการแพทย์มากขึ้นในปัจจุบัน เช่น บริษัท Renishaw ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างกระดูกซี่โครงเทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติ หรือโรงพยาบาลศัลยศาสตร์พิเศษของมหาครนิวยอร์กก็ได้มีเครื่องพิมพ์สามมิติเอาไว้ใช้สำหรับการสร้างกระดูสันหลังเทียมให้กับคนไข้

ในประเทศไทย บริษัท start-up ด้าน healthtech อย่าง Meticuly ก็สามารถพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนกระดูกแบบจากเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยใช้ AI คำนวณลักษณะของแบบกระดูกให้เหมาะกับความต้องการรักษาของแต่ละคน และทำให้มีต้นทุนวัสดุถูกกว่าการรักษาแบบเดิมถึง 3 เท่า

ก้าวต่อไปของการรักษาอาการบกพร่องทางการได้ยินด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติของหมอมาชูดู คือการทำให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับอาการเหล่านั้นเข้าถึงการรักษามากขึ้น และทำให้พวกเขาสามารถกลับมาได้ยินอีกครั้ง รวมถึงต่อยอดไปสู่การรักษาผู้คนอีกจำนวนมหาศาลทั่วโลก

นี่คือหน้าประวัติศาสตร์ของวงการแพทย์ครั้งสำคัญที่ จะทำให้ผู้คนได้รับการสรรพเสียงคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง