ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สถาบันโรคผิวหนัง” เตือนระวังผิวหนังอักเสบจาก “ด้วงก้นกระดก” ที่พบมากในหน้าฝน พร้อมแนะนำวิธีการรักษาและป้องกันอย่างถูกวิธี


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า “ด้วงก้นกระดก” มีชื่อเรียกได้อีกหลายชื่อ เช่น แมลงก้นกระดก ด้วงกรด หรือแมลงเฟรชชีนั้น พบมากในฤดูฝน ชอบเล่นไฟนีออนแต่ไม่ชอบไฟจากหลอดไฟไส้ โดยในท้องของด้วงก้นกระดกจะมีสารพิษที่ชื่อ “พีเดอริน” มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน สามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ โดยตัวเมียจะมีปริมาณสารพิษมากกว่าตัวผู้

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก เกิดจากการสัมผัสสาร “พีเดอริน” ตอนที่แมลงมาเกาะตามร่างกายและเผลอปัดหรือบี้ ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษ

ทั้งนี้ อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่สัมผัส อาการจะไม่เกิดทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัส 8-12 ชั่วโมง ซึ่งพบมากในบริเวณนอกร่มผ้า ลักษณะผื่นเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ผื่นมีขอบชัดเจน ทิศทางหลากหลายตามรอยการปัด อาการคันมีมากแต่จะมีอาการแสบร้อน และมีตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมา บริเวณใบหน้าและรอบดวงตาหรือผิวอ่อนๆ จะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่อื่น ส่วนฝ่ามือมักจะเป็นที่สัมผัสสารพิษแห่งแรก กลับไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากบริเวณนี้มีผิวหนากว่าผิวส่วนอื่น

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า การรักษาทำได้โดยเมื่อสัมผัสกับแมลงและสารพิษพีเดอริน ให้ล้างน้ำออกด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ ห้ามเกาเพราะจะทำให้ติดเชื้อซ้ำ การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลง ก่อนอนควรปัดที่นอน ผ้าห่มให้แน่ใจว่าไม่มีแมลง ที่สำคัญเมื่อสัมผัสกับตัวแมลงมาเกาะตามร่างกาย อย่าตบหรือตีตัวแมลงโดยตรง แต่ให้เป่าหรืออาจใช้เทปกาวใสมาแปะตัวแมลงออกไป หากโดนสารพิษแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที