ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มาตรการปิดเมือง-ปิดแคมป์ก่อสร้าง ป้องกันโควิด-19 ระบาด ทำให้แรงงานข้ามชาติขาดรายได้ และมีสภาพความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น

ลำพังค่าแรงรายวันในสถานการณ์ปกติก็ไม่เพียงพอต่อยาไส้อยู่แล้ว คงไม่ต้องถามถึงเครื่องใช้ไม้สอยอุปกรณ์สำหรับป้องกันโรค หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ หรือชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่มีราคาแพงระยับ

แค่ข้าวสารกรอกหม้อให้ท้องอิ่มผ่านไปแต่ละมื้อ ก็เป็นสิ่งที่เลือนรางและยากเต็มที

“เด็กในแคมป์ก่อสร้าง” นอกจากจะเติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อคุณภาพชีวิต ทุกวันนี้ยังถูกโควิด-19 กระหน่ำซ้ำเติมจนแทบมองอนาคตของตัวเองไม่เห็น นี่คือความหดหู่ในวิกฤตซ้อนวิกฤต และเป็นที่มาของเวทีเสวนา “ชะตากรรมและอนาคตของเด็กเปราะบางในสถานการณ์โควิด” ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา 

เวทีดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยู่ในโครงการศึกษา “ชีวิตและสุขภาพของเด็กต่างด้าวกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุข” และ “การพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและขับเคลื่อนงานของครูข้างถนน” ตามแผนดำเนินงานวิจัย ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เล่าว่า รัฐบาลยังขาดมาตรการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเด็กข้ามชาติที่อยู่ในครอบครัวแรงงาน ทำให้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา มีเด็กอายุ 0-5 ปี ติดเชื้อสะสมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย เสียชีวิต 10 ราย

เด็กข้ามชาติเหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จึงไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ

มากไปกว่านั้น เนื่องจากบางครอบครัวเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่กล้าแจ้งข้อมูลให้กับทางการ เนื่องจากกลัวถูกจับ ทำให้ติดตามตัวเข้าสู่ระบบการรักษาได้ยาก

สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของ น.ส.ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่เล่าว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ พบว่าแรงงานจำนวนหนึ่งมักจะปกปิดข้อมูลการติดเชื้อ และใช้วิธีจัดการ-รักษากันเอง

“นี่เป็นปัญหามากกว่า เพราะมีผลกระทบต่อเด็กในแคมป์คนงานโดยตรง เราจึงต้องทำงานเชิงรุก ด้วยการขออนุญาตเจ้าของโครงการเข้าพื้นที่ไปดูแลเด็ก พร้อมกับประสานหน่วยงานภายนอก และของบสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ และยารักษาโรคให้แก่เด็กให้ได้มากที่สุด” น.ส.ทองพูล เล่า

ทางด้าน รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดศูนย์จิตตปัญญาศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า การคำนึงถึงชีวิตเด็กคือทางออกของปัญหา การทำงานต้องอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก

อาทิ เด็กต่างด้าวมีบริบทชีวิตที่ซับซ้อน อยู่ภายใต้สภาพสังคมและครอบครัวที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป การออกแบบแนวทางการทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติของเด็ก

“ตัวบทบัญญัติทางกฎหมายมีมากมายแต่แนวทางปฏิบัติที่ไม่สามารถทำได้จริง ก็ไม่ต่างอะไรกับการเพิกเฉยและปล่อยให้ชีวิตของพวกเขาเป็นไปตามยถากรรม ฉะนั้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับคนทำงานจริงในพื้นที่ เช่น กลุ่มครูข้างถนน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” รศ.ดร.ลือชัย ระบุ