ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาการปวดหลังเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้คนทุกวันนี้ กำลังจะมีทางออก

ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้บอกลา “ยาแก้ปวดแรงๆ” กันสักที เมื่อนักวิจัยกำลังจะมีทางออกใหม่ให้กับ “อาการปวดหลังเรื้อรัง” ที่น่ารำคาญและสุดบั่นทอน

ทางออกดังกล่าว เป็นการนำวิธีทาง “จิตวิทยา” มาใช้แก้ปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งได้ผลและหายขาดอย่างเป็นปลิดทิ้ง

วารสาร JAMA Psychiatry เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ได้ตีพิมพ์งานวิจัยจาก University of Colorado at Boulder โดยระบุว่า วิธีการรักษาทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Pain Reprocessing Therapy (PRT) สามารถทำให้ผู้ป่วยยุติอาการเจ็บปวดที่หลังได้ หรือหากยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ก็อยู่ในระดับที่น้อยมากๆ

วิธีนี้จะทำให้อาการสงบได้ยาวนานกว่าหนึ่งปี หลังจากเข้ารับการรักษา

อาการปวดหลังเรื้อรัง เกิดขึ้นกับ 1 ใน 5 ของประชากรสหรัฐ โดยงานวิจัยนี้แสดงหลักฐานสำคัญว่า การรักษาทางจิตวิทยานั้นได้ผลมากกับอาการปวดหลังเรื้อรัง

โยนี่ อาชาร์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า นานแสนนานมาแล้ว เราคิดกันว่าอาการปวดหลังเรื้อรังพวกนี้เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากปัญหาทางร่างกาย และการรักษาทั้งหลายทั้งปวงก็เน้นไปที่ร่างกายทั้งหมด

ทว่าตอนนี้ เราค้นพบว่าการรักษาที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องเชิงจิตวิทยาและสมองที่เป็นต้นทางของอาการเจ็บปวดนั้นได้ผลในการทำให้อาการเจ็บปวดหายไป

โดยปกติทั่วไปแล้ว กว่า 85% ของผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังและเข้ารับการดูแลวินิจฉัยรวมถึงรักษาจากแพทย์ มักจะหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลังไม่ได้ และมักจะถูกมองเป็นเรื่องของกล้ามเนื้ออักเสบ หรืออาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆ

แต่เมื่อศึกษาลึกลงไป ทีมวิจัยพบว่า ระบบทางเดินประสาทที่เกี่ยวข้องกับสมองนั้นมีส่วนต่อ “ความเจ็บปวด” ที่เกิดขึ้นในอาการปวดหลังเรื้อรัง

เมื่อร่างกายเกิดอาการผิดปกติ สมองจะสั่งผ่านระบบประสาทให้เกิดอาการ “ปวดหลัง” ขึ้นมา นั่นเป็น ”สัญญาณเตือน” ถึงปัญหาในร่างกาย

แต่ในอาการปวดหลังเรื้อรัง งานวิจัยค้นพบว่า โดยส่วนใหญ่กลายเป็นว่าในหลาย  ครั้ง “สัญญาณเตือน” นั้นมันเป็นความผิดพลาดของสมองและระบบประสาท ทำให้เกิดอาการ “ปวด” ตลอดเวลา ทั้งที่ร่างกายอาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไร จนกลายเป็นอาการเรื้อรัง

ซึ่งวิธีการรักษาใหม่อย่าง Pain Reprocessing Therapy (PRT) ที่ถูกคิดค้นโดยนักจิตวิทยานามอลัน กอร์ดอน จึงได้นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ โดยมีกระบวนการคือ

1. สร้างความเข้าใจเรื่องอาการเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย ว่าสมองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร

2. ช่วยผู้ป่วยทำความเข้าใจกับอาการเจ็บปวดใหม่ จากนั้นก็ช่วยให้ผู้ป่วยเริ่มขยับหรือทำท่าทางที่เคยทำแล้วปวดหรือไม่กล้าทำเพราะกลัวปวดมากขึ้น

3. ทำให้ผู้ป่วยนั้นมีภาวะทางอารมณ์ที่จะไม่ไปกระตุ้นให้สมองสั่งให้ปวด

“หลักการง่ายๆ คือการทำให้สมองของผู้ป่วยนั้นไม่คิดถึงความเจ็บปวด” อาชาร์อธิบาย

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่การบอกว่าความเจ็บปวดเรื้อรังนั้นไม่ใช่ของจริง หรือเป็นเพราะสมองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพียงการบอกว่าถ้าอาการปวดมาจากความผิดพลาดของสมองและระบบประสาทจริงๆ การแก้ไขก็ต้องแก้ที่ตรงจุด ไม่ใช่การแก้ไขที่ร่างกาย

ในการศึกษาวิจัย ทีมวิจัยได้ทำการรับอาสาสมัครจำนวน 151 คน ทั้งหญิงและชายที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังมามากกว่า 6 เดือน และปวดอย่างน้อยในระดับ 4 จากสัดส่วน 1 – 10 โดยทั้งหมดจะได้รับการ PRT ทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง โดยก่อนหน้าจะเข้ารับการรักษา อาสาสมัครจะได้รับการตรวจ functional magnetic resonance imaging (fMRI) เพื่อประเมินว่าสมองของแต่ละคน มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเจ็บปวด

เมื่อการทดลองรักษาเสร็จสิ้น ผลที่ได้พบว่า กว่า 66% ของผู้เข้ารับการทดลองนั้นหายปวดเป็นปลิดทิ้งหรืออย่างน้อยก็เหลืออาการปวดเรื้อรังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เทียบกับ 20% ของกลุ่มที่เข้ารับการรักษาหลอก (Placebo group) และ 10% ของกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ

“อาการปวดหลังที่หายไปและระยะเวลาที่อาการสงบนั้น ไม่มีการรักษาใดในปัจจุบันเทียบได้เลย แม้กระทั่งการใช้ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ก็ตาม” อาชาร์ ระบุ

หลักจากนั้น เมื่อผู้ที่ได้รับการรักษาแบบ PRT ถูกนำไปสแกนอีกครั้งก็พบว่า สมองในส่วนที่ก่อให้เกิดการเจ็บปวด รวมถึงส่วนที่เรียกว่า anterior insula ที่อยู่ในเปลือกสมองส่วนรู้รส และ anterior midcingulate Cortex ต่างไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใด ๆ

เท่ากับว่า “สมอง” ไม่ได้สั่งให้ปวด (โดยผิดปกติ) แล้ว

อย่างไรก็ดี งานศึกษาชิ้นนี้ยังคงต้องได้รับการศึกษาต่อไปถึงความเป็นไปได้ในการมาใช้รักษาทั่วไปจริงๆ แก่ผู้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง และยังรวมถึงการนำวิธีการนี้ไปใช้กับอาการเจ็บเรื้อรังในร่างกายส่วนอื่นๆ อีก

งานวิจัยชิ้นนี้ได้เปิดทางไปสู่การทำความเข้าใจและวิธีการรักษาใหม่ของอาการปวดหลังเรื้อรัง มันจะเป็นตัวเลือกที่สำคัญให้แก่เหล่าผู้ที่อยากจะลาขาดจากอาการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีในอนาคตอันใกล้

อ้างอิง
http://sciencedaily.com/releases/2021/09/210929112846.htm
https://jamanetwork.com/journals/jamapsychiatry/fullarticle/2784694
https://www.colorado.edu/today/2021/09/29/how-therapy-not-pills-can-nix-chronic-pain-and-change-brain