ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปลี่ยนศาลากลางใหม่ จ.ภูเก็ต ให้กลายเป็น “คลินิกอุ่นใจ” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา “คอขวด” ระบบบริการ ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 200 ราย

นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ดี และน่ายกให้เป็นต้นแบบ เพราะ “คลินิกอุ่นใจ” ที่ จ.ภูเก็ต ตั้งขึ้นนั้น มีศักยภาพในการให้บริการได้แบบครบวงจร เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 -20.00 น.

ที่สำคัญก็คือ คลินิกแห่งนี้ ช่วยรองรับผู้ที่พบ “ผลบวก” จากการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วที่สุด

ผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก เมื่อเข้ารับบริการที่คลินิกอุ่นใจแล้ว ก็จะได้รับการตรวจคัดกรอง เอ็กซเรย์ปอด ก่อนประเมินอาการอย่างละเอียดอีกครั้ง

หากยืนยันการติดเชื้อ แต่อาการไม่มากและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608 ก็จะมีการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ทันที พร้อมจัดหาเตียงที่เหมาะสมให้ อาจเป็นระบบ Home Isolation หรือ Hotel Isolation

แต่ในกลุ่มผู้ที่มีอาการหนัก หรือผู้ป่วยกลุ่ม 608 จะได้รับยา “ฟาวิพิราเวียร์” ทันที และรีบนำส่งเข้าระบบโรงพยาบาลทันที

นพ.พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 11 เล่าให้ “The Coverage” ฟังว่า คลินิกอุ่นใจเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยเหตุผลในการจัดตั้งมีด้วยกัน 2 ประการสำคัญ 1. พบผู้ป่วยใน จ.ภูเก็ต มากขึ้น 2. รองรับการกระจายชุดตรวจ ATK แบบโฮมยูส

“หากผลตรวจเป็นบวก ก็จะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการคำปรึกษา และต้องการรักษาอย่างรวดเร็ว” นพ.พิทักษ์พล ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ จำนวน 20 คู่สาย ที่หมายเลข 0-7625-4200 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ด้วย

ทั้งคลินิกอุ่นใจและบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทุกวันนี้มีผู้ใช้บริการจำนวนใกล้เคียงกัน โดยช่วงแรกมีผู้เข้ารับบริการวันละ 100 กว่าราย แต่ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 50-60 รายต่อวัน

นอกจากการบริการเชิงรับด้วยการจัดตั้งคลินิกอุ่นใจกับบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แล้ว ที่ จ.ภูเก็ต ยังมีการจัดตั้งหน่วยเชิงรุกในชุมชน (CCR Team) เข้าไปให้บริการเชิงรุก ป้องกันและควบคุมโควิด – 19 แบบเบ็ดเสร็จ ค้นหาผู้ป่วยให้รวดเร็วด้วยการตรวจ ATK ตรวจพบก็รีบให้ยา พร้อมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ที่ยังตกค้าง

นพ.พิทักษ์พล บอกอีกว่า ต้องยอมรับว่าโควิดคงไม่หมดไปจากประเทศไทย สิ่งสำคัญคือต้องค้นหาคนที่ติดเชื้อให้เร็ว ให้ได้รับยาเร็ว

“แม้ว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ก็ได้รับภายหลังเข้าแอดมิดในโรงพยาบาลแล้ว กว่าจะรอผลตรวจ RT-PCR กว่าจะได้เข้าโรงพยาบาล กว่าเขาจะได้รับยาก็เป็นเวลา 2-3 วันเป็นอย่างน้อย

“และจากข้อมูลของเขตสุขภาพที่ 11 พบว่า 95% ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบ และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ” นพ.พิทักษ์พล ระบุ

สำหรับการทำงานของหน่วย CCR Team เดิมจะลงพื้นที่ทุกอำเภอ ใน จ.ภูเก็ต โดยมีทั้งสิ้น 10 ทีม ซึ่งเป็นทีมสนับสนุนจากเขตสุขภาพที่ 11 และเขตสุขภาพที่ 12 แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ทีมของ จ.ภูเก็ต เท่านั้น และลงพื้นที่ในอำเภอเมืองที่ยังมีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้ออยู่

“การจัดหน่วยเชิงรุกในชุมชนเข้าไปในชุมชน เพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด และให้ยารักษาอย่างรวดเร็ว เป็นยุทธศาสตร์หลักที่เขตสุขภาพที่ 11 ดำเนินการ และใช้กับที่ภูเก็ตด้วย เป็นยุทธศาสตร์หลักที่เราจะอยู่ร่วมกับโควิด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

“ทุกวันนี้ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงขึ้น ผู้ป่วยหนักไม่สูงขึ้น เกิดจากฉีดวัคซีนและการวินิจฉัยให้ยาเร็ว เราจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน่วยเชิงรุกในชุมชน คลินิกอุ่นใจ และบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือมีจำนวนผู้ป่วยจะลดลงต่ำกว่า 100 รายต่อวัน” นพ.พิทักษ์พล ระบุ