ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิโนเบล ประกาศรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2021 โดยตกเป็นของ เดวิด จูเลียส และ อาร์เดม ปาตาปูเชียน จากการค้นพบตัวรับประสาทที่ก่อให้เกิดความรู้สึก “ร้อน” และ “เย็น”

นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันทั้งสองคน เดวิด จูเลียส จาก University of California, San Francisco และ Howard Hughes Medical Institute at Scripps Research in La Jolla ได้ค้นพบว่า มนุษย์นั้นรับรู้ความรู้สึก ร้อน เย็น สัมผัส และแรงดัน ผ่านกระแสประสาท

งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากความสงสัยที่มาจาก “พริก” หรือให้ระบุชัดเจนลงไปคือ “แคปไซซิน” ที่อยู่ในพริก ซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกเผ็ด แสบร้อนเวลาที่สัมผัส หรือรับประทานมันเข้าไป

การที่พริกไปกระตุ้นให้มนุษย์ปวดแสบปวดร้อนได้นั้น ทำให้ “เดวิด จูเลียส” คิดว่ามันน่าจะสามารถนำไปสู่การทำความเข้าใจกลไกของโมเลกุลที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น

สองนักวิทยาศาสตร์และทีมงานสร้างฐานข้อมูล DNA ที่สอดคล้องกับยีนอันเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับเซลส์ประสาทที่สามารถโต้ตอบกับความรู้สึก ร้อน เจ็บปวด หรือการสัมผัสได้ จากนั้นก็ทำการใส่ยีนที่ไม่มีปฏิกิริยากับแคปไซซินเข้าไปในเซลล์เหล่านั้น

เพื่อหาว่า ตกลงแล้ว เซลส์ตัวไหนกันแน่ ที่มีปฏิกิริยากับแคปไซซิน

การทดลองดังกล่าวทำให้พบว่า เซลล์ที่มีปฏิกิริยากับแคปไซซิน เป็นเซลล์เดียวกันกับที่เป็นตัวรับที่ก่อให้เกิดความรู้สึกร้อนและเจ็บปวด

การค้นพบนี้ทำให้เกิดความเข้าใจต่อปริศนาที่ว่า กลไกของระบบประสาทนั้นถูกกระตุ้นให้ทำงานได้อย่างไร

นอกจากนี้ เจ้าของรางวัลทั้งสองร่วมกับทีมยังสามารถระบุยีนกว่า 72 ตัว ที่มีความเป็นไปได้ต่อการเข้ารหัสพันธุกรรม และอาจจะนำไปสู่การ “ปิด” การทำงานของมันได้ เพื่อที่สามารถค้นหาลึกเข้าไปถึงความต่อความรู้สึกเชิงกลของเส้นประสาท หรือความเป็นไปได้ในการเข้าใจการทำงานของกลไกเหล่านี้ที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจปัญหาสุขภาพต่างๆ

นี่คือการค้นพบที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการแพทย์ของมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่การรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท สุขภาพจิต การรับรู้ เรื่องทางสมอง ไปจนถึงการนำมาใช้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานต่อการหาทางสู้กับโควิด-19 แม้กระทั่งต่อยอดสู่การนำไปพัฒนายา อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

อ้างอิง