ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กว่า 1 ใน 3 ของเด็กทั่วโลก หรือ 1 ใน 4,000 ของเด็กเกิดใหม่ พบการขาดหายไปของโครโมโซม 22 (microdeletion of chromosome 22) ที่จะนำไปสู่การเกิดอาการของกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้เป็นหลัก เช่น โรคจิตเภท

ทว่า ในเวลานี้เราสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าถึง “ความเป็นได้” ที่เด็กจะประสบปัญหานี้ได้แล้ว

ก่อนหน้านี้เรารู้เพียงว่ากลไกเกี่ยวกับระบบประสาทคือสาเหตุหลัก แต่การประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจิตเภทที่มาจากความบกพร่อง และวิธีการรักษาที่เหมาะสมนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก

อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเจนีวา และ สถาบันเทคโนโลยีเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ทำการศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทีมวิจัยได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์และโครงข่ายฐานข้อมูลที่รวบรวม ทั้งสถิติทางระบบประสาท สถิติด้านจิตวิทยา การรับรู้ทางสมอง และอื่นๆ ในระยะเวลา 20ปี ที่ผ่านมา เพื่อนำมาประเมินถึงสาเหตุและปัจจัยที่จะนำไปสู่การเกิดอาการจิตเภทของเด็กในอนาคต

ข้อมูลเหล่านั้น จะถูกนำมาป้องกันและรักษาเด็กได้ล่วงหน้าก่อนที่อาการจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของโครโมโซม

คอราโด ซานดินี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจนีวา อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ การวิเคราะห์เรื่องโครโมโซมยังอยู่ที่การตรวจสอบกลไกเกี่ยวกับระบบประสาทและอาการป่วยที่เกิดขึ้นเป็นหลัก โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรเกี่ยวข้องกันอย่างไร และอะไรมีผลมากที่สุดต่อการพัฒนาไปเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้

การที่ไม่สามารถรู้ได้ถึงอาการความผิดปกติและปัจจัยที่มีผลมากที่สุดทำให้การใช้กระบวนรักษาที่ถูกต้องนั้นเป็นไปได้ยาก “ซานดินี” บอกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมวิจัยหันมาใช้การวิเคราะห์ผ่านโครงข่ายด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ก่อนหน้านี้ การใช้การวิเคราะห์ผ่านโครงข่ายด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกนำมาใช้ในผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสามารถที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อาการลักษณะเดียวกันได้เป็นอย่างดี ทีมวิจัยเลยนำมาทดลองใช้ในเด็ก

สเตฟาน เอลิซ อีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัย อธิบายว่า จากการที่อาการนั้นมาจากหลายปัจจัยมากกว่าเรื่องกลไกลเกี่ยวกับระบบประสาท อัลกอริทึมของเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถช่วยให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดอาการ และเตือนแพทย์ล่วงหน้าได้ว่าเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงนั้นจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีอาการจิตเภท

20 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยติดตามเด็ก 70 คน ที่มีการขาดหายไปของโครโมโซมตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พร้อมทั้งพบเจอปัจจัยเกี่ยวข้องกว่า 40 ปัจจัยในกลุ่มตัวอย่างนี้ ทีมวิจัยยังเฝ้าดูและนำกลุ่มตัวอย่างมาทดสอบทุกๆ 3 ปี รวมถึงใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามที่ให้ผู้ปกครองเด็กร่วมทำด้วย

ใน 40 ปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้อง เช่น เห็นภาพหลอน อารมณ์ไม่คงที่ ความรู้สึกผิดที่เกินกว่าปกติ หรือแม้กระทั่งปัญหาการจัดการความเครียดในชีวิตประจำวัน

ข้อมูลอาการดังกล่าวถูกเอามาใช้ให้ปัญญาประดิษฐ์ทำการประมวลผล จากนั้นปัญญาประดิษฐ์ก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดมาแสดงให้เห็นว่า ในเด็กแต่ละคนมีปัจจัยใดที่มีผลมากน้อยต่อการพัฒนาไปสู่อาการผิดปกติทางความคิดและการรับรู้

มากไปกว่านั้น ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถพยากรณ์พัฒนาการของอาการเด็กล่วงหน้าว่า ในอีก 3 ปีต่อมาที่เด็กต้องเข้ามารับการทดสอบนั้นจะมีอาการอะไร

ตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 10 ปี ที่มีอาการวิตกกังวลทางจิตผิดปกติ ต่อมาก็พบว่ามีปัญหาในการรับมือกับความเครียด และในที่สุดก็พัฒนาไปสู่อาการของกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้ในที่สุด ซึ่งจากตัวอย่างนี้ อัลกอริทึมได้ “เตือน” แพทย์ตั้งแต่เด็กเกิดอาการวิตกกังวลทางจิตผิดปกติมาตั้งแต่แรกว่า นี่เป็นอาการที่นำไปสู่ปัญหา

เมื่อสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าแล้วว่า เหตุปัจจัยใดที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต แพทย์ก็จะสามารถรักษาได้ตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา ทำให้อาการไม่พัฒนาต่อไป

ณ จุดนี้ ทีมวิจัยจะเริ่มนำวิธีการนี้มาใช้ในการรักษาจริง เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือเด็กที่การขาดหายไปของโครโมโซมให้มีสุขภาวะที่ดีต่อไป พร้อมทั้งยังจะเพิ่มความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถที่จะประมวลข้อมูลและเหตุปัจจัยให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม

นี่คืออนาคตของแนวทางการรักษาเด็กผู้โชคร้ายเหล่านั้น ให้สามารถมีชีวิตที่ดีได้ในอนาคต