ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนทางสู่สุขภาพที่ดีและชีวิตที่ยืนยาวของมนุษย์ชาติใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาแล้ว เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันอาจจะสามารถทำให้เรา “รู้ล่วงหน้า” ถึงอาการเจ็บป่วยได้ ตั้งแต่ที่เรายังไม่ป่วย

ทุกวันนี้ เทรนด์ทางการแพทย์มุ่งไปสู่การใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI และ Big Data มาผสมรวมกันเพื่อช่วยทั้งในการวินิจฉัยโรคและรักษา

AI และ Big Data มีประโยชน์เป็นอย่างมาก การที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถลดภาระและก้าวข้ามขีดจำกัดของแพทย์ที่เป็นมนุษย์ได้ และยังสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างครอบคลุมและแม่นยำ

หนึ่งในนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ใหม่ที่น่าสนใจ คือสิ่งที่เรียกว่า Predictive Analytic (การวิเคราะห์แบบพยากรณ์) ซึ่งเป็นการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มาทำการประมวลข้อมูลเชิงสถิติร่วมกับ AI เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์และพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้

โดยทั่วไป นวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้ทั้งในงานประเภทการเมือง เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของคะแนนเสียง หรือในงานธุรกิจเช่นการวิเคราะห์และพยากรณ์ยอดขาย

ทางการแพทย์ Predictive Analytic มีหลักการทำงานโดยจะนำข้อมูลภาพรวมเชิงสถิติอย่างรอบด้านของผู้ป่วยหรือผู้มีปัญหาทางสุขภาพต่างๆ เช่น จุดต่าง จุดร่วม ลักษณะเฉพาะ ระยะเวลาการป่วย วิธีการรักษา สถิติการหาย สถิติการเสียชีวิต ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี AI

แล้วก็จะได้ผลประมวลข้อมูลและพยากรณ์การเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วย ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไหนต่อการเกิดโรค ความเป็นไปได้ของการรักษา วิธีรักษาใดดีที่สุด

นี่ยังรวมไปถึงการคำนวณระยะเวลาของการพักฟื้น ทั้งยังสามารถที่จะนำไปใช้กับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทั่วไปได้ เช่น การช่วยวิเคราะห์ผลตรวจต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำอีกด้วย

เรียกได้ว่ารู้ล่วงหน้าก่อนเกิดโรค เพื่อจะสามารถรักษาได้ทันท่วงที

ในเวลานี้ การใช้ Big Data กับ AI เพื่อนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์แบบพยากรณ์เริ่มมีการศึกษาวิจัยและใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว เช่น นักวิจัยจาก ศูนย์มะเร็งโรเกล มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้สร้างเครื่องตรวจเลือดที่ใช้นวัตกรรมแบบ Predictive Analytic มาเพื่อสามารถทราบล่วงหน้าได้ว่ากระบวนการรักษามะเร็งลำคอที่ใช้อยู่นั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยใช้เพียงแค่ผลเลือด

จากแต่เดิมที่ต้องรอหลังจากกระบวนการรักษาครั้งแรกถึง 1 เดือน และยังต้องให้แพทย์วิเคราะห์เอาเองจากผลแสกนภาพ

ด้านทีมวิจัยจาก New York University's School of Global Public Health and Tandon School of Engineering ก็ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถพยากรณ์โรคกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดของคนไข้ได้ ว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรคมากน้อยเพียงใด ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และการป้องกันหรือรักษาทางใดจะดีที่สุดกับผู้ป่วย

ในการต่อสู้กับโควิด-19 ก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สร้าง Predictive Analytic ด้วยวิธีแบบ Federated Learning รวบรวมข้อมูลทั้งจากข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง อาการโดยทั่วไป และผลของการ x-ray ปอด จากผู้ป่วย 10,000 ราย ทุกทวีปทั่วโลก แล้วนำผลการประมวลข้อมูลมาพยากรณ์ปริมาณของออกซิเจนที่ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องการได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้าการักษา

ยังมีงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือกันของผูเชี่ยวชาญระหว่าง University of Colorado School of Medicine และ Johns Hopkins University ที่ใช้ AI และ Big Data ในการประมวลข้อมูลและพยากรณ์กลุ่มลักษณะประชากรแบบไหนที่จะมีความเสี่ยงต่อโควิดแบบใด

นี่ยังรวมไปถึงนักวิจัยจาก American Chemical Society ที่พัฒนาวิธีการอ่านค่าผลเลือดด้วย Predictive Analytic ให้สามารถบอกได้ถึงขนาดว่า เจ้าของผลเลือดนั้นจะมีอาการจากการติดเชื้อโควิด-19อย่างไรบ้าง

สำหรับในประเทศไทย การใช้ AI และ Big Data อาจจะยังไปไม่ถึงการทำ Predictive Analytic เต็มรูปแบบ แต่ก็ถือว่าสามารถทำได้ใกล้เคียงแล้ว ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

เช่น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) และ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้ร่วมมือกัน พัฒนา “AI Chest 4 All” ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการตรวจภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก โดย AI ตัวนี้จะฝังตัวอยู่ในเซิฟเวอร์ เมื่อมีการเอกซเรย์ทรวงอกแล้ว รูปจะถูกส่งไปให้กับ AI เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์และอ่านผล ว่าผลการเอกซเรย์นั้นมีความผิดปกติอะไรหรือไม่ และถ้ามี สิ่งนั้นคืออะไร ความแม่นยำก็มีมากถึง 90%

โดยทีมพัฒนาได้ใช้ฐานข้อมูลของคนไทยเป็นพื้นฐานหลัก ทำให้การประมวลผลนั้นแม่นยำกับโรคที่พบมากในคนไทย เช่น วัณโรค มะเร็งปอด ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติภายในทรวงอก (Intra-thoracic) ซึ่งรวมถึงการตรวจคัดกรองปอดอักเสบ (Pneumonia) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ใช้ระบบนี้อยู่หลายร้อยโรงพยาบาล และกำลังพัฒนาขยายขีดความสามารถต่อไป เช่น สามารถอ่านผล MRI หรือ CT Scan ได้ เป็นต้น

นอกจาก AI Chest 4 All แล้ว ก็ยังมี Inspectra CXR ที่พัฒนาโดยบริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพที่ลงทุนเกี่ยวกับระบบ Cloud Computing เชื่อมต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าด้วยกัน กับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยเป็น AI ที่ช่วยแพทย์ในเรื่องของการตรวจจับความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก โดยประมวลผลภาพและจำแนกความผิดปกติให้กับแพทย์ รวมทั้งคิดคำนวณความเป็นไปได้ของอาการต่างๆ โดยใช้คลังข้อมูลของผู้ป่วยและสถิติประชากรไทยโดยทั่วไปมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ ซึ่ง Inspectra CXR สามารถที่จะลดเวลาการอ่านรังสีของแพทย์ได้ถึง 40% เลยทีเดียว โดยปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลเริ่มทำการนำเทคโนโลยีนี้ไปเริ่มทดลองใช้แล้ว

ทั้งหมดนี้คือก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ของทั้งไทยและต่างประเทศ ที่มุ่งพัฒนาวิธีการที่จะสามารถรู้ล่วงหน้าเพื่อการป้องกัน และสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำเพื่อการรักษาบรรดาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Predictive Analytic ทางการแพทย์ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาวะของมนุษยชาติต่อไปในอนาคตแน่นอน

อ้างอิง
https://tu.ac.th/thammasat-090764-tse-ai-chest-4-all
http://kmutt.ac.th/news/event-050364-n4-ai/
https://healthitanalytics.com/news/what-are-the-benefits-of-predictive-analytics-in-healthcare
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2781923
http://eurekalert.org/news-releases/720459
http://km.prd.go.th/big-data-data-analytics/
https://www.arbormetrix.com/blog/intro-predictive-analytics-healthcare
https://www.philips.com/a-w/about/news/archive/features/20200604-predictive-analytics-in-healthcare-three-real-world-examples.html
https://healthitanalytics.com/news/10-high-value-use-cases-for-predictive-analytics-in-healthcare
https://www.scb10x.com/blog/healthtech-landscape