ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ที่ผ่าน คำพูดจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศเอาไว้ว่า “จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน” ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย และยิ่งสั่นสะเทือนไปอีกขั้น เพราะในอีกเดือนกว่าๆ หลังจากนั้น (13 ส.ค. 2564) ไทยกลับมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งทะยานสูงถึง 23,418 ราย และมียอดผู้เสียชีวิต 184 คน

หลังจากช่วงพีคของเหตุการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิต ยังคงทรงตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนถึงปัจจุบันที่แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง และมียอดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่คำถามสำคัญก็คือ ... เราจะเปิดประเทศได้ตามกำหนดจริงหรือ !!?

เพราะการกำหนดเปิดประเทศ 120 วัน ในระยะที่ 2 ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2564 นั้น ก็ถูกเลื่อนออกไป เป็นวันที่ 1 พ.ย. 2564 แทนแล้ว

เหตุผลของรัฐบาลคือ เพื่อให้ทุกพื้นที่ระดมฉีดวัคซีนวิด-19 ครบโดสครอบคลุม 70% ของประชากรก่อน

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และผู้ก่อตั้ง HITAP และ รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย นักวิจัยอาวุโส HITAP ถึงสิ่งที่ประเทศต้องเตรียมพร้อมก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว

ตลอดจนการคาดการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 5 และการศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อ หรือสูตรไขว้

เปิดประเทศตอนนี้ได้ประโยชน์น้อย

ดร.นพ.ยศ บอกว่า ส่วนตัวคิดว่าที่ไทยยังไม่เปิดประเทศ ไม่ใช่เพราะกลัวจะมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลที่ HITAP ศึกษาพบว่า ถ้าเปิดให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดน้อยกว่าไทยเข้ามา โดยนักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วด้วย

โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะแพร่เชื้อจนทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยรุนแรงกว่าเดิมนั้น เป็นไปได้น้อย

“ฉะนั้นประเทศคู่ค้าที่เราอยากให้เข้ามาคงไม่ได้ระบาดหนักกว่าเรา เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรป เพราะฉะนั้นถ้ามาแล้วฉีดวัคซีน มีกักตัวบ้าง ก็คงไม่ได้ทำให้เรากังวล” ดร.นพ.ยศ กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับการเปิดประเทศต้องมองทั้ง 2 ฝ่าย คือต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่ามาก่อน เพราะตอนนี้ไทยยังเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง (Red List) ถ้าจะเปิดเลยก็คงจะได้ประโยชน์น้อย ถ้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็อาจจะมาจากประเทศที่มีการระบาดหนักเท่ากัน หรือหนักมากกว่าประเทศไทย

“ผมคิดว่าเขาดีเลย์เปิดประเทศ เพราะเขาคิดว่าเปิดไปตอนนี้ลงทุนลงแรงเยอะ แต่คนอาจจะยังไม่มา เช่น ภูเก็ต เราตั้งไว้แสนนึง แต่คนมาจริงๆ เพียงประมาณ 3 หมื่น ก็อาจจะเหมือนกับยังเร็วไป” ดร.นพ.ยศ กล่าว

ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า นอกเหนือจากสายพันธุ์เดลต้า ยังมีเรื่องของการแพร่ระบาดที่ยังคงเป็นปัจจัยทำให้การเปิดประเทศต้องชะลอออก แต่ทว่านโยบายของแต่ประเทศก็ยังไม่ชัดเจน ฉะนั้นทางออกก็คือวัคซีน ซึ่งการระดมฉีดวัคซีนจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ

“การค่อยๆ ผ่อนคลายเป็นอีกหนึ่งขั้นที่ทุกประเทศทำเหมือนกัน แม้กระทั่งประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ หรือประเทศที่พึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือทำให้ในบ้านของเราน่ามาก่อน” ดร.นพ.ยศ กล่าว

สิ่งที่ควรทำคือ ‘หาข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ’

ดร.นพ.ยศ กล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ออกข้อเสนอแนะถึง Vaccine Certificate หรือ Vaccine Passport จะมีเพียงแค่ประเทศสหรัฐอเมริกากับยุโรปที่เพิ่งมีการคุยกัน โดยอเมริกาจะเปิดประเทศให้ฝั่งยุโรป และทั่วโลกสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวถ้าฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว

“อันนี้เขาก็เริ่มเป็นประเทศแรก และยังเป็นประเทศแรกๆ ที่ฉีดวัคซีน ฉะนั้นไม่แปลกใจถ้าว่าวันนี้เรายังไม่ได้ทำในอาเซียน แต่ผมคิดว่าไม่นานเราต้องเริ่มคุยกัน” ดร.นพ.ยศ ระบุ

ดร.นพ.ยศ อธิบายว่า นโยบายการเปิดประเทศเป็นนโยบายที่ต้องปรบมือ 2 ของข้าง สมมติว่าประเทศไทยอยากให้คนในประเทศญี่ปุ่นเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าคนไทยจะไปญี่ปุ่นได้อย่างไร ญี่ปุ่นคงอาจจะรู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบ

“จะเหมือนในเอกสารที่ทีมเราทำ ที่ระบุว่าต้องมีการเจรจาให้มีข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกัน ที่ได้ประโยชน์เสมอกัน” ดร.นพ.ยศ ระบุ

ดร.นพ.ยศ อธิบายต่อไปว่า สิ่งที่ต้องทำคือการหาตกลงร่วมกันเป็นพหุภาคี เนื่องจากประเทศไทยเปรียบเสมือนมดบนเวทีโลก ฉะนั้นถ้าจะไปต่อรองกับสหภาพยุโรป (European Union :EU) ก็อาจจะเหนื่อย ขณะเดียวกันถ้าเป็นอาเซียนต่อรองกับ EU ส่วนตัวคิดว่าอาจจะต่อรองได้ แต่ทั้งนี้นั้นก็ต้องมีการพูดคุยในอาเซียนก่อน

โควิดระลอก 5 ถ้าจะมาก็อาจไม่หนัก

ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า สำหรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 5 ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีการระบาดอีก หรือไม่ระบาดก็ได้ ถ้าจะเกิดการระบาดก็อาจจะไม่หนักเหมือนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากประชากรได้รับวัคซีนโควิดไปแล้วค่อนข้างมาก โดยในรอบที่ผ่านมาจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะ 1 ล้าน แต่ส่วนตัวคิดตัวเลขอาจจะมีถึง 2-3 ล้านรายที่ติดเชื้อโควิดไปแล้ว และมีภูมิคุ้ม เมื่อบวกกับมีการฉีดวัคซีนเข้าไปอาจจะส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันไปไม่น้อย

นอกจากนี้ เมื่อเกิดโรคระบาดมักจะเกิด Harvesting หรือฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งในการระบาดรอบแรกมักจะกวาดสิ่งที่สุกงอมออกไปแล้ว ลักษณะเดียวกันกับเวลามีพายุลูกใหญ่เข้ามา โดยเฉพาะถ้าเป็นครั้งแรกของฤดูกาลก็มักจะทำให้เกิดความเสียหายหนักมาก ต้นไม้โค่นล้มระเนระนาด ขณะเดียวกันเมื่อมีพายุลูกที่ 2 เข้ามาก็จะไม่ได้เสียหายมากนัก เนื่องจากต้นที่รอดจากรอบแรกมักจะคงทน

ดร.นพ.ยศ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีการระบาดอีก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น ถ้าไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ที่สามารถเจาะภูมิคุ้มกันทั้งภูมิคุ้มกันเก่า และภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็อาจจะไม่ระบาดหนักไปกว่าครั้งที่ผ่านมา

อย่างก็ตาม ถ้ามีการระบาดอีกก็อาจจะระบาดพอให้รู้สึกตกใจเท่านั้น แต่จะไม่ถึงขั้นที่ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลเหมือนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่างในขณะนั้น เช่น ไวรัสมีความรุนแรง ประชาชนได้รับวัคซีนน้อย และการไม่มีภูมิคุ้มกันเก่า

“ผมว่าประสบการณ์จะช่วยได้เยอะ ถ้าหนักเราก็มี Home isolation มี Community isolation การตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) เราก็มี” ดร.นพ.ยศ ระบุ

‘วัคซีนไขว้’ ใหม่กับโควิด แต่ไม่ใหม่ต่อโลก

รศ.ดร.วรรณฤดี อธิบายว่า จริงๆ แล้วการฉีดวัคซีนไขว้เป็นสิ่งที่เคยทำมาก่อน เช่น การใช้วัคซีนไขว้ในโรคอีโบล่า หรือ HIV เป็นต้น โดยมีเหตุผลด้านชีววิทยาที่ระบุว่ามีโอกาสช่วยมากกว่า และนักภูมิคุ้มกันวิทยาเองก็ระบุว่าแนวคิดการฉีดวัคซีนไขว้ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่

 ขณะเดียวกัน สำหรับโควิด-19 ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่เมื่อลองนำมาต่อยอดก็จะพบเหตุผลหลักๆ ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนเร็วที่สุด และมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีไว้สำหรับคนฉีดวัคซีนไปแล้วเกิดผลข้างเคียง และไม่สามารถรับวัคซีนยี่ห้อเดิมเป็นเข็มที่ 2 ได้

“อย่างเช่นแอสตร้าเซนเนก้าที่ฉีดในกลุ่มคนอายุน้อยที่เป็นผู้หญิง อันนี้หลายประเทศที่ใช้แอสตร้าฯ เป็นหลัก เขาจะบอกเลยว่าไม่อยากให้แอสตร้าฯ เขาอยากให้ฉีด mRNA เข็มแรก แต่คนที่ฉีดแอสตร้าฯ ไปแล้ว เขาให้สลับเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียง” รศ.ดร.วรรณฤดี ระบุ

WHO ยังไม่สนับสนุน ข้อมูลยังมีน้อย ?

รศ.ดร.วรรณฤดี กล่าวว่า มีการศึกษาจากประเทศอังกฤษที่ทดลองเป็นเรื่องเป็นราว ถึงการให้วัคซีนแบบสลับยี่ห้อตั้งแต่ที่เริ่มฉีดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการทบทวนจากนักวิจัย ยังถือว่าไม่สมบูรณ์ ซึ่งก็เพิ่งมีการเผยแพร่ออกไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

“เขาใช้เวลา 9 เดือนในการทำ เหมือนกับทำให้เรารู้ข้อมูล แต่ถ้าจะเอาข้อมูลที่มีคุณภาพจริงๆ มันต้องใช้เวลา ถ้าไปดูบางทีที่ทดลองกัน 30-40 คน ถ้าเราจะลองหรืออยากจะรู้ว่ายานี้ช่วยไหม ถามคนแค่ 30 คน จะเชื่อหรือเปล่า เวลาทำงานวิจัยมันมีวิธี ต้องถามกี่คนเพื่อให้คำตอบที่เราได้มามีความน่าเชื่อถือ” รศ.ดร.วรรณฤดี ระบุ

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่ได้ออกมาพูดสนับสนุนเรื่องวัคซีนไขว้ เพราะข้อมูลยังไม่พร้อม เช่นเดียวกับอเมริกาก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมรับการฉีดวัคซีนแบบ Mix and Match

มีตัวอย่างจากคนแคนาดา ที่ฉีดแอสตร้าฯ เป็นหลัก แต่เมื่อเกิดผลข้างเคียงจึงได้ไขว้ด้วยการฉีด ไฟเซอร์ โมเดอร์นาแทน แต่สหัฐอเมริกาไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้เข้าประเทศ คือถ้าจะเข้าสหรัฐฯ ต้องฉีดไฟเซอร์ หรือโมเดอนาอีกรอบ

คอนเซปต์นี้ ยังใช้กันอีกหลายประเทศ คือยังไม่รับรองการฉีดวัคซีนแบบ Mix and Match