ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายใต้สถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน อย่างวิกฤตโควิด-19 สบช่องให้ “ข่าวปลอม” หรือ Fake News ผุดออกมาเต็มไปหมด

เป้าประสงค์ของข่าวปลอมหรือข่าวที่ถูกบิดเบือนเหล่านั้น มีตั้งแต่การ “กลั่นแกล้ง” เพื่อให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนกเฉยๆ ไปจนถึงการหวังยอดผู้เข้าชม หรือการหวังผลทางสังคมและทางการเมือง

แน่นอนว่า ความเป็นความตาย-ความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ย่อมสัมพันธ์โดยตรงกับข้อมูล-ข้อเท็จจริง ฉะนั้นผลพวงจาก “ข่าวปลอม” อาจหมายถึงชีวิตที่ต้องสังเวยไปในวิกฤตการณ์

“ข่าวปลอม” ยอดนิยมของโควิด-19 มีอยู่ไม่กี่หัวข้อ ตั้งแต่ พื้นที่การระบาด คลัสเตอร์ใหม่ๆ (ที่ไม่จริง) วิธีการรักษา ยา หรือสูตรการป้องกันโรค ตลอดจนมาตรการ-นโยบายแห่งรัฐ

ความเข้าใจผิดจากการรับข่าวปลอม มักสร้างความเสียหายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เกิดข่าวปลอมแพร่กระจายไม่เว้นแต่ละวัน โดยข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. – 11 พ.ค. 2564 ซึ่งอยู่ในการระบาดระลอก 3 พบข่าวที่เข้าข่ายข่าวปลอมทั้งสิ้น 788 ข่าว โดยกว่า 68% ว่าด้วยเรื่องสุขภาพโดยตรง และอีก32% เป็นข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายรัฐ

ข่าวปลอมประหลาดๆ ก็มี เช่น การสูดไอจากน้ำร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ในร่างกายได้ หรือการอมลูกอมรสกระชายผสม Zinc จะมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโควิด-19 แม้กระทั่งข่าวว่าห้องทดลองเชื้อโรคของกองทัพสหรัฐตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มี

แม้ว่าบางข่าวจะดูเหมือนเป็นเรื่อง “โจ๊ก” เสียมากกว่า แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อและลองทำตามนั้นจริงๆ ที่สุดแล้วก็เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ล้มป่วย ถูกหามส่งโรงพยาบาล และกลายเป็นภาระงานเพิ่มของบุคลากรสาธารณสุขในท้ายที่สุด

ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย ปัญหา Fake News ยังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก

ณ เวลานี้ มีข่าวปลอมหรือความเชื่อที่กำลังแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา นั่นคือความเชื่อที่ว่า “ยาไอเวอเมคติน” (Ivermectin) สามารถใช้รักษาและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้

เรื่องนี้เริ่มแพร่กระจายจากรายการพอดแคสท์ชื่อดังของ “โจ โรแกน” ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 โดยรายการในวันนั้นมีแขกรับเชิญเป็น “เบรต ไวน์ไสตน์” นักชีววิทยา และ ดร.ปิแอร์ โครี่ ซึ่งมาให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ยา” ที่สามารถเอาชนะโควิด-19 ได้

“ไวน์สไตน์” ได้พูดถึงยาไอเวอเมคตินว่า “ดีพอที่จะหยุดโรคระบาดเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ” แต่ที่ไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ก็เพราะว่ายาตัวนี้จะทำให้บรรษัทยายักษ์ใหญ่ไม่สามารถหากำไรจากโรคระบาดได้

หลังจากรายการออกอากาศ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้รายงานว่า เมื่อถึงช่วงกลางสิงหาคมมีใบสั่งจ่ายยาตัวนี้ถึง 88,000 ใบ ซึ่งก่อนหน้าวันออกอากาศของรายการตอนนี้ มีเพียงแค่ 15,000 ใบเท่านั้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นแม้ว่านักระบาดวิทยาอย่าง “กีเดี้ยน เมเยอโรวิช-แคทซ์” จากมหาวิทยาลัยวอลโลกอง จะยืนยันว่า ยาไอเวอเมคตินอาจจะส่งผลเล็กน้อย หรือ “ไม่ส่งผลเลย” ต่อการรักษาและป้องกันโควิด-19

ผลกระทบอีกประการก็คือ เมื่อความเชื่อเรื่องยาตัวนี้แพร่ขยายเป็นวงกว้างในสังคม ได้ทำให้มีการปฏิเสธที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดที่มีวัคซีนเหลือทิ้งกว่า 15 ล้านโดส เลยทีเดียว

ถ้าอย่างนั้น ไอเวอเมคตินคืออะไร? ทำไมผู้คนถึงเชื่อว่ามันรักษาโควิด-19 ได้

“ไอเวอเมคติน” แท้จริงแล้วเป็นยาที่เอาไว้ใช้รักษาปรสิตหรือพยาธิในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ เป็นยาราคาถูก เข้าถึงได้ง่าย และมีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยมาก ยาตัวนี้ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1975 และถูกใช้กับผู้คน 250 ล้านคนทั่วโลกมาแล้ว

จุดเริ่มต้นแรกสุดของความเชื่อเรื่องไอเวอเมคติน มาจากรายการศึกษาของ “อาเมห็ด อัลกัซซษ” จากมหาวิทยาลัยเบนฮา ประเทศอียิปต์ โดยมีเนื้อหาว่า มีความเป็นไปได้ที่ไอเวอเมคตินจะสามารถต้านไวรัสโควิด-19 ได้

การศึกษาดังกล่าว มีการเทียบเคียงกับยาอย่าง “ฟลูโวซามิน” ที่ไม่ได้ใช้เพื่อต้านไวรัส แต่ก็ให้ผลในการต้านไวรัสได้เหมือนกัน และในบางครั้งยังถูกนำไปใช้รักษาโควิด-19 จริง ๆ  แต่งานศึกษาชิ้นนี้ถูกตีตกโดยนักวิชาการจำนวนมากว่า “ไม่มีความน่าเชื่อถือ”

จนถึงขณะนี้ จึงยังไม่มีการวิจัยและศึกษาใดที่ยืนยันได้ว่า “ไอเวอเมคติน” มีความเกี่ยวข้องกับการรักษา หรือป้องกันโควิด-19 แม้ว่าในห้องทดลองตอนนี้ กำลังมีการศึกษาถึงผลต่อไอเวอเมคตินกับการสู้กับไวรัสก็ตาม

จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 1,678 ราย ที่ทดลองทั้งใช้ไอเวอเมคติน ยาหลอก และที่ไม่ใช้ ซึ่งเป็นการศึกษาโดย Cochrane Database of Systematic Reviews 2021 ก็ไม่พบความเกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัดถึงการรักษาโควิด-19

มากไปกว่านั้น ในแวดวงวิชาการด้านการแพทย์หรือระบาดวิทยาก็ยังคงให้ความเห็นว่า การรักษาอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันให้ผลที่ดีกว่าการใช้ไอเวอเมคติน

แต่อย่างไรก็ดี ความเชื่อเรื่องไอเวอเมคตินนั้นได้แพร่หลายไปสู่สาธารณชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนอกจากผลเสียต่อสุขภาพ การปฏิเสธวัคซีน ฯลฯ แล้ว ยังได้ก่อให้เกิดสับสนและความวุ่นวายทางสังคมอีกมหาศาล

ตัวอย่างเช่น คลิปวิดีโอที่เป็นที่แพร่หลายของ “ลิน วูด” ทนายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่โทรไปขู่ฆ่าโอเปอเรเตอร์ของโรงพยาบาล ที่ปฏิเสธการจ่ายยาไอเวอเมคตินเพื่อรักษาเธอ

หรือหญิงชาวแคลิฟอร์เนียผู้หนึ่งได้ทำการฟ้องร้องสถานพยาบาลเพื่อให้จ่ายยาไอเวอเมคตินในการรักษาสามีของเธอที่ทำการรักษาโควิด-19 อยู่

และไม่ใช่แค่ผู้คน แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เองก็เชื่อในไอเวอเมคติน เช่น “เทส ลอรี่” ผู้อำนวยการ The Evidence-Based Medicine Consultancy ในประเทศอังกฤษ ก็ได้กล่าวผ่านสื่อว่า ไอเวอเมคตินนั้นเป็นยาที่อ”ใช้ได้” และไม่มีอะไรที่จะมาเปลี่ยนใจเธอเรื่องนี้ได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการของผู้ที่เชื่อในไอเวอเมคติน ทั้งที่มีผลการทดลองและคำอธิบายทางด้านการแพทย์ยืนยันแล้วว่า “ใช้ไม่ได้”

หันกลับมาที่ประเทศไทยของเรา ก็จะพบความคลายคลึงกันในเรื่องจำพวกนี้อยู่ เช่น เรื่องของการบริโภคยาเม็ดฟ้าทะลายโจรเพื่อต้านโควิด-19 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากนั้นมากนัก เพราะ “แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide)” ในฟ้าทะลายโจรนั้น ตามผลการวิจัยก็สามารถช่วยให้อาการของผู้ป่วยโควิดที่ไม่รุนแรงดีขึ้นได้จริงๆ

ทว่า ปัญหาสำคัญคือยาเม็ดฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่ไม่ได้ “ครอบจักรวาล” และต้องได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งกลายเป็นว่าเกิดความเชื่อกันผิดๆ จนบริโภคเกินพอดี ส่งผลเสียต่อร่างกายจนอาจจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงถึงชีวิต

ปัญหาเรื่องข่าวปลอม ความเชื่อ และวิธีการต่อสู้กับโควิด-19 ที่ออกแนว “พิลึกพิลั่น” นั้นอาจจะต้องการความใส่ใจจากผู้คนมากกว่าเดิม ไม่ว่าในระดับรัฐหรือภาคประชาสังคมต่างๆ

การต่อสู้กับความบิดเบือนนั้นต้องสู้ด้วยการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนอย่างทั่วถึงและเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องวางอยู่บนหลักการและเหตุผลที่เหมาะสม เพื่อที่จะทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ปลอดภัยจากภัยทั้งโควิด-19และภัยที่มาจากความเชื่อที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล

นี่คือสิ่งที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะที่ใดในโลกก็ประสบกับปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารและความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ว่าอย่างไร ความจริงก็คือความจริง

อ้างอิง
https://thairath.co.th/news/society/2152508
https://journals.lww.com/americantherapeutics/fulltext/2021/08000/ivermectin_for_prevention_and_treatment_of.7.aspx
https://www.cochrane.org/CD015017/HAEMATOL_ivermectin-preventing-and-treating-covid-19
https://www.drugs.com/medical-answers/ivermectin-treat-covid-19-coronavirus-3535912/
https://www.kget.com/news/local-news/woman-suing-adventist-health-to-get-husband-ivermectin-treatment-for-covid-19/
https://www.vox.com/future-perfect/22663127/ivermectin-covid-treatments-vaccines-evidence
https://www.thairath.co.th/news/society/2092236
https://www.antifakenewscenter.com/tag/covid-19/
https://workpointtoday.com/andrographis-paniculata/
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Andrographolide-with-covid-19