ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กฎระเบียบไม่เอื้อในการพัฒนาโรงพยาบาลสักเท่าไหร่ มันจะมีกฎระเบียบบางอย่างที่ดูขัด และทำให้เราพัฒนาได้ยาก กลายเป็นทำอะไรก็ไม่ได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเล็กๆ อย่างโรงพยาบาลอำเภอ

คำกล่าวข้างต้นมาจาก นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่ได้บอกเล่าผ่าน “The Coverage” ถึงความพยายามในการทำร้านกาแฟภายในโรงพยาบาล

ภาพฝันของผู้อำนวยการคนหนุ่ม นักบริหาร-นักพัฒนาไฟแรงคนนี้ คือต้องการที่จะจัดมุมพักผ่อนไว้สำหรับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งบุคลากรภายในโรงพยาบาล โดยใช้กลิ่นอโรมาจากกาแฟเป็นเครื่องมือสร้างความผ่อนคลาย

ทว่า ความฝันดังกล่าวเป็นอันต้องล่มสลาย หลังจากได้เริ่มดำเนินการได้เพียง 1 ปี เมื่อวันดีคืนดีมีจดหมายจากกรมธนารักษ์ร่อนมาถึง โดยแจ้งว่าจะขอเก็บค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท

นพ.ประวัติ เล่าว่า โรงพยาบาลรัฐมีปัญหาเรื่องความแออัดและระยะเวลารอคอยที่นาน ฉะนั้นก็ต้องมีการแก้ไขในหลายมิติ เช่น ปรับระบบเพื่อล่นระยะเวลาในการรอคอย การขยายเวลาในการรักษา การส่งยาด้วยนวัตกรรมท่อแรงดัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อลดความแออัดที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่กำลังเป็นทุกข์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาระงานค่อนข้างหนัก จึงได้มีแนวคิดในการจัดมุมเล็กๆ ในโรงพยาบาลเพื่อเป็นสถานที่นั่งรออย่างผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยลดอารมณ์ความเครียดลงได้

“เราเห็นว่าทำไมโรงพยาบาลเอกชนถึงมีได้ ทำได้ เราก็เลยอยากปรับ เป็นลักษณะกึ่งๆ ว่าเป็นบริการฟรี ที่มีสถานที่เหมือนเอกชน มีสิ่งแวดล้อมในการดึงดูดคน ทำให้บรรยากาศในการทำงานดูผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งตัวผู้มารับบริการเอง และผู้ให้บริการเองด้วย

“และยังมีเรื่องของกลิ่นอโรมาที่เกิดจากกาแฟ มันทำให้กลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ในโรงพยาบาลได้ เช่น กลิ่นยา กลิ่นอะไรบางอย่าง ที่บางครั้งเราไปโรงพยาบาลเราก็รู้ว่านี่เป็นกลิ่นของโรงพยาบาล แต่มันจะโดนกลบโดยกลิ่นของกาแฟ ทั้งในรูป รส กลิ่น เสียง” นพ.ประวัติ กล่าว

ด้วยเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมาเป็นเหตุให้โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ดำเนินการสร้างร้านกาแฟภายในโรงพยาบาลเมื่อราวปี 2562 – 2563 ซึ่งดำเนินการได้ประมาณ 1 ปี โดยผลตอบรับที่ได้จากผู้มาใช้บริการ และผู้ให้บริการก็เป็นไปในทิศทางที่ดี  

นพ.ประวัติ เล่าว่า จากนั้นกรมธนารักษ์ส่งเจ้าหน้าที่มาแอบถ่ายรูป และคงส่งไปที่หน่วยงานว่ามีการทำแบบนี้ในโรงพยาบาล ทำให้กรมธนารักษ์มีหนังสือส่งมา ซึ่งก็คงมีกฎระเบียบว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่ให้กับกรมธนารักษ์

 “ถ้าเข้าใจไม่ผิดเหมือนอาคารราชการขึ้นกับกรมธนารักษ์ และก็มีอัตราค่าเช่า เมื่อดูเหมือนเป็นลักษณะการค้าก็จะโดนค่าเช่าในอัตราที่ผมว่า เขาคิดเท่ากัน ไม่ได้คิดถึงทำเล แต่คิดจำนวนตามตารางเมตร และตีเป็นเงิน ว่าต้องจ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในราคาเดือนละ ประมาณ 3,000 บาท ต่อที่ประมาณไม่ถึง 10 ตารางเมตร รวมที่พักคอยไปด้วย

“ผมว่าเขาทำเหมือนกันในราคาที่เท่ากัน กลางเมืองหรือชายแดนก็ตามจะเป็นราคาเดียวกัน ผมเดาว่าเขาไม่ได้คิดเรื่องของสถานที่ คงคิดตามตารางเมตรขึ้นมา ซึ่งกำไรเราไม่พอสำหรับจ่ายค่าเช่าได้ ถ้าจะทำต่อ เราก็ต้องควักเงินกันเองทุกเดือนเพื่อจะให้มีบริการ ซึ่งก็กลายเป็นการแบกภาระของโรงพยาบาลเกินไป” นพ.ประวัติ ระบุ

จากสาเหตุนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายร้านกาแฟออกไปภายนอกอาคาร โดยได้รับคำอธิบายจากกรมธนารักษ์ว่าสามารถตั้งภายนอกอาคารได้ ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลว่าเป็นในลักษณะใด ซึ่งที่โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ฉะนั้นจึงอยู่ภายนอกอาคารได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า

ทว่าการย้ายออกไปภายนอกอาคารก็ไม่ตรงกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ เพราะไม่ได้เป็นสถานที่ที่สามารถนั่งคอยได้อย่างสบายใจ ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องเดินเข้าเดินออก โดยสาเหตุที่ทำร้านกาแฟภายในโรงพยาบาลนั้น นพ.ประวัติ กล่าวว่า เพราะเวลาผู้ใช้บริการก็ต้องการนั่งรอบริเวณตรงนั้น เพื่อให้สามารถเห็นคิวได้ง่าย

“วัตถุประสงค์หลักไม่ได้ต้องการขายกาแฟ เราต้องการให้ผู้มาใช้บริการมีที่สำหรับพักผ่อน และรอได้อย่างสบายใจมากกว่า” นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ เล่าต่อไปว่า ราคาที่ดินตรงนี้กับราคาที่ดินในเมืองต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ขนาด แต่มีเรื่องทำเลเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนตัวมองว่ากรมธนารักษ์อาจจะต้องนำเรื่องของทำเลมาเป็นเกณฑ์อีกข้อ ถ้าไม่ได้อยู่ในอำเภอเมือง ก็อาจจะคิดราคาที่แบบเป็นค่าธรรมเนียม หรือคิดในราคาที่ถูกที่สุดอย่างถูกต้อง ฉะนั้นการปรับให้ยืดหยุ่นได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้หลายๆ โรงพยาบาลสามารถพัฒนาได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น ไม่ใช่ไปกระจุกตัวในอำเภอเมืองอย่างเดียว

“คุณได้เงินไป 3,000 บาท เดือนนึงไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้น แต่ถ้าเรามีการพัฒนาในโรงพยาบาลชุมชน ผลประโยชน์ก็จะตกกับคนในพื้นที่ คนมารับบริการเป็นพันเป็นหมื่นคน เอาเงินไป 3,000 ก็แทบไม่ได้อะไร” นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ บอกว่า กฎระเบียบไม่เอื้อสำหรับการพัฒนาโรงพยาบาล เพราะจะมีกฎหรือระเบียบบางอย่างที่ขัด และทำให้การพัฒนาล่าช้า โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่ได้มีปริมาณคนเข้าออกเป็นจำนวนมาก จะยิ่งไม่สามารถพัฒนาได้เลย จะมีเพียงโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ทีมีคนเข้า-ออกเยอะๆ เท่านั้นที่ทำได้

“มันจะกลายเป็นโตเฉพาะส่วนกลาง เป็นลักษณะ Centralized หรือการรวมศูนย์ ส่วนที่อยู่ไกลๆ หรือโรงพยาบาลบาลเล็กๆ ก็จะลีบลง เล็กลง และไม่ได้พัฒนา เวลาคนไปรับบริการเห็นสถานที่ที่ใหญ่กว่า ดีกว่า และมีทุกอย่าง คนก็จะไหลไปเกิดเป็นความแออัดตรงกลาง ทำให้คนไปกองอยู่ตรงนั้น และทำให้ระบบเละเทะ” นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ อธิบายว่า การทำให้เป็นลักษณะกระจายอำนาจ กระจายความเจริญให้แผ่ออกไป จะทำให้ตรงกลางไม่แออัด ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนควรจะต้องพัฒนาโดยได้รับการสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องเงิน แต่สนับสนุนกฎอะไรบางอย่างที่ทำให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถพัฒนาได้ง่ายๆ ฉะนั้นถ้าโรงพยาบาลในแต่ละอำเภอสามารถพัฒนาได้ง่าย อำเภอก็จะได้รับอานิสงส์ ในการที่จะสามารถดึงผู้ป่วยให้อยู่ในอำเภอได้

“หลายๆ อำเภอจะเห็นว่าไม่ได้พัฒนามานาน อาจจะเป็นเพราะกฎระเบียบ ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างออกนอกกรอบ ผมมองว่า common sense น่าจะทำได้ แต่บางอย่างก็พลาดไปเช่นเรื่องร้านกาแฟเป็นต้น ที่ดูเหมือนจะทำได้ แต่ก็ทำไม่ได้” นพ.ประวัติ กล่าว

อย่างไรก็ดี การจะดึงศรัทธาให้คนในชุมชนเข้ามารักษาในโรงพยาบาลชุมชน ประกอบไปด้วยหลากหลายปัจจัย ซึ่งสถานที่ก็เป็นหนึ่งในนั้น

นพ.ประวัติ เล่าว่า เมื่อเข้าไปในโรงพยาบาลชุมชนหลายๆ ที่ จะเห็นได้ว่าไม่น่าเข้า หรือรู้สึกน่ากลัว ฉะนั้นก็ต้องมีการพัฒนาทั้งระบบบริการรวมไปถึงสถานที่ ที่ต้องพัฒนาควบคู่กัน โดยต้องคิดไปถึงว่าจะสามารถหลุดกรอบตรงนี้ไปได้อย่างไร

“จุดประสงค์หลักของผมก็คือ คนไข้ที่เดินเข้ามาต้องรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลรัฐ ทำให้เขารู้สึกสบายกว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วไป แต่ยังให้บริการฟรี” นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ เล่าต่อไปว่า โรงพยาบาลอำเภอพัฒนาได้ยาก เพราะติดกฎเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้บริหารหลายคนจึงไม่กล้าออกจากกรอบเท่าไหร่ ก็เลยทำตามที่เขาทำกันมา เมื่อเป็นลักษณะเดิมๆ จึงไม่ได้เห็นโรงพยาบาลชุมชนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

“เขากลัวราชการเสียเปรียบจนเกินไป เขาก็คงคิดว่าใช้สถานที่เป็นลักษณะ Commercial แล้ว ราชการจะเสียประโยชน์จากตรงนี้ ซึ่งกฎระเบียบพวกนี้มันล้าหลัง” นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ ทิ้งท้ายว่า อยากให้มีการเปลี่ยน หรือมีการทบทวน อาจจะเป็นลักษณะเชิญชวนให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถพัฒนาได้โดยปล่อยในกฎระเบียบบางอย่างที่จะทำให้เกิดการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกโรงพยาบาลทั้งประเทศ โดยไม่ติดกรอบ เพราะสุดท้ายผู้ที่ได้ผลประโยชน์ ก็คือประชาชน

สำหรับ นพ.ประวัติ เป็นคุณหมอนักบริหารคนหนุ่ม โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ทางการเงินที่ติดลบในระดับวิกฤตให้กลับมาเป็นบวกได้ และขณะนี้ยังได้พัฒนาโรงพยาบาลเป็น Smart Hospital ดิจิทัลเต็มรูปแบบ บรรยากาศคล้ายคลึงกับโรงพยาบาลเอกชน แต่ให้บริการฟรี โดยใช้งบประมาณบริหารจัดการจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะ “บัตรทอง”

ทั้งนี้ ผลจากการคิดนอกกรอบและการบริหารแบบคนรุ่นใหม่ ทำให้ในปี 2563 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยได้รับโล่รางวัล และตรารับรองมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ในระดับเป็นเลิศ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยทั่วประเทศมีเพียง 5 หน่วยงานที่ผ่านการประเมินระดับเป็นเลิศ มาตรฐานบริการประชาชนที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก