ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในสายตาของผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุ การเล่นอินเทอร์เน็ต ความสนุกสนานในโลกออนไลน์ หรือการกดวิดีโอเกมส์ อาจเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่เหมาะสมกับวัย หรือในบางคนอยากจะเรียนรู้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากเกินไป

ทว่า งานวิจัยที่พึ่งเผยแพร่ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2021 ในวารสาร Journal of Economic Behaviour and Organization อาจจะทำให้ผู้สูงอายุหลายคนต้องคิดใหม่กับการหัดใช้อินเทอร์เน็ต

นั่นเพราะ ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า การสนุกสนานไปกับการท่องอินเทอร์เน็ตของผู้คนวัยเกษียณจะช่วยรักษาและเสริมสร้างการทำงานของการรับรู้ในสมองได้ (Cognitive Function)

นักวิจัยจาก Lancaster University Management School และ the Norwegian University Science and Technology and Trinity College Dublin ได้ร่วมมือกันศึกษาข้อมูลของผู้คนวัยเกษียณกว่า 2,000 คนทั่วทั้งยุโรป โดยนำข้อมูลมาจาก  Survey of Health, Ageing and Retirement in Europe (SHARE) มาทำการติดตามดูความเชื่อมโยงระหว่างการใช้อินเทอร์เน็ตและการรับรู้ของสมอง

จากตัวอย่างของผู้สูงอายุ 2,105 คนในยุโรปที่เกษียณมาตั้งแต่ปี 2004 นักวิจัยได้ทำการศึกษากลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ในช่วงปี 2013 และปี 2015 โดยเน้นไปที่การทดสอบเรื่องความจำเกี่ยวกับ “คำศัพท์” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะถูกทดสอบให้ทวนคำศัพท์ในทันทีหลังจากแสดงคำให้ดู และอีกครั้งหลังจากนั้น5นาที

ผลที่ได้จากการทดสอบทวนคำศัพท์พบว่า ผู้สูงอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นจะสามารถทวนคำศัพท์ได้มากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต 1.22 คำโดยเฉลี่ย

สถิติยังบอกอีกว่า ผู้สูงอายุที่ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนมากจะเป็นเพศชาย อยู่ในกลุ่มอายุน้อย เกษียณมาในเวลาที่สั้นกว่า มีการศึกษาดี และมีสุขภาพที่ดี

ดร.วินเซนท์ โอซัลลิแวน หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ผลการทดลองของเราเผยให้เห็นถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในผู้สูงอายุหลังเกษียณ ที่บ่งชี้เห็นว่าสามารถลดอัตราการเสื่อมของระบบการรับรู้ได้”

 เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า “ที่น่าสนใจก็คือ เพศหญิงที่เกษียณแล้วและใช้อินเทอร์เน็ตจะสามารถที่จะทวนคำศัพท์ในแบบทดสอบได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 2.73 คำ ในส่วนของเพศชาย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถทวนคำศัพท์ในแบบทดสอบได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต 0.94 คำ”

งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกอีกว่า ผู้คนวัยเกษียณที่ก่อนหน้านั้นใช้คอมพิวเตอร์มาโดยตลอดมีอัตราการใช้คอมพิวเตอร์ต่อไปในชีวิตหลังการเกษียณ ซึ่งเป็นผลดีต่อการรับรู้ในสมอง ซึ่งนักวิจัยใช้ผลการศึกษาจากการเปรียบเทียบผู้คนที่ก่อนเกษียณนั้นทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เช่น ผู้ที่ทำงานภาคการเงิน ก็มักจะยังคงใช้คอมพิวเตอร์ต่อไป แต่ผู้คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานน้อย เช่น ผู้ที่ทำอาชีพครู ก็มักจะไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์และใช้อินเทอร์เน็ตในวันเกษียณต่อไป

สถิติที่น่าสนใจอีกอย่างจากงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ ประเทศที่ผู้สูงอายุวัยเกษียณแล้วยังใช้คอมพิวเตอร์หรือใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในยุโรปคือประเทศเดนมาร์ก ด้วยสัดส่วน 60% จากผู้สูงอายุทั้งหมด และประเทศที่ใช้น้อยที่สุดคืออิตาลี มีเพียง 12% เท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตในวัยเกษียณ

“งานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า การเกษียณจากหน้าที่การงานของผู้สูงอายุนั้นมีส่วนสำคัญที่กระทบต่อความสามารถในการรับรู้ของสมอง ซึ่งมันจะเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา” ดร.ลิคุน เหมา อีกหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

“อย่างไรก็ดี มีความเชื่อกันว่าการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตนั้นมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมถอยของการรับรู้ของสมอง และยังช่วยเรื่องครวามจำ สมาธิ การกะระยะ หรือแม้กระทั่งความสามารถในการแก้ปัญหา

การพบปะผุ้คนออนไลน์ การใช้โซเชี่ยลมีเดีย สืบค้นหาข้อมูล ท่องหาความบันเทิง หรือแม้กระทั่งการจับจ่ายออนไลน์ ดูเหมือนจะให้ผลเป็นบวกต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องของระบบการรับรู้ ทว่างานวิจัยนี้ยังคงบอกได้เพียงว่ามันสามารถจะชะลออาการเสื่อมถอยเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตกับผู้สูงอายุจะช่วยให้ระบบการรับรู้ “ดีขึ้น”

ดังนั้นแล้ว ดูเหมือนว่าพ่อแก่แม่เฒ่าทั้งหลาย อาจจะต้องหันมา “กูเกิ้ล” หาอะไรอ่านสนุกๆ หรือท่อง “ยูทูบ” เพิ่มมากขึ้น จากแต่ก่อนแค่ “สวัสดีวันจันทร์” กันในโปรแกรมแชทกันเสียแล้ว

แต่ที่ต้องมีควบคู่กันไปด้วยคือ media literacy หรือความรอบรู้-รู้เท่าทันสื่อ ซึ่งลูกหลานจะมีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง