ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในแต่ละวัน ทั่วโลกมีมารดาเสียชีวิตวันละ 810 คน และมีเด็กแรกเกิดเสียชีวิตสูงถึงวันละ 6,700 คน โดยที่ 47% เสียชีวิตภายใน 5 วันหลังคลอด และอีก 40% ของเด็กแรกเกิดที่เสียชีวิตเกิดขึ้นในระหว่างการคลอด

เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลกในปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้เน้นแนวคิดเรื่องของการคลอดบุตรที่ปลอดภัย (safe maternal and newborn care)

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตของมารดาไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 8.9 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ในปี 2554 เป็น 28.32 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่สถานการณ์การเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 3.68 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ในปี 2558 เป็น 4.51 ต่อแสนการเกิดมีชีพ ในปี 2564 โดยปัจจัยเสริมที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของมารดาและเด็กแรกเกิดในปีนี้เพิ่มขึ้น คือการที่มารดาติดเชื้อโควิด–19 ด้วยจำนวนที่สูงมากขึ้น   

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์โควิด–19 ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ของกรมอนามัย พบว่าระหว่างวันที่ 1 เม.ย. – 11 ก.ย. 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด–19 สูงถึง 3,668 ราย ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนเพียง 85 ราย เสียชีวิต 82 ราย และมีทารกติดเชื้อ 180 ราย เสียชีวิต 37 ราย

พญ.พิมลพรรณ ต่างวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยแม่และเด็ก รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า ปกติประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของมารดา 100 กว่าราย แต่ในปีนี้ระยะเวลาเพียงแค่ 9 เดือน มีมารดาเสียชีวิตแล้ว 172 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 66 ราย สูงกว่าจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากการตกเลือด และถ้าเราไม่นับรวมจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 อัตราการเสียชีวิตของมารดาก็ไม่ต่างจากปีก่อนหน้า

พญ.พิมลพรรณ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อมีความสำคัญมาก ช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด–19 ได้ แต่จนถึงวันที่ 16 ก.ค. 64 เพิ่งมีหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนเข็มแรกจำนวน 60,246 ราย เข็ม 2 จำนวน 26,502 ราย เข็ม 3 จำนวน 228 ราย จึงมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ก่อน เพราะเมื่อแม่ปลอดภัยลูกก็จะปลอดภัย

นอกจากโควิด–19 จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของมารดาเพิ่มขึ้น ยังทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงด้วย ทั้งที่จริงแล้วนมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต มีภูมิคุ้มกัน และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงได้ด้วย

“ในกรณีที่แม่ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง แนะนำให้แม่ลูกอยู่ด้วยกัน ให้ลูกกินนมจากเต้าได้ เวลาที่ไม่ได้ให้นมค่อยให้ลูกอยู่ห่างจากแม่อย่างน้อย 2 เมตร หรือใช้ผ้าม่านกั้น หากจำเป็นต้องแยกแม่แยกลูกให้บีบเก็บน้ำนม ให้ผู้ช่วยป้อนนมแทน ส่วนกรณีที่แม่ติดเชื้ออาการรุนแรง ต้องแยกแม่แยกลูก และงดให้นมชั่วคราว” พญ.พิมลพรรณ กล่าว