ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามว่า ประชาชนและผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดหลังจากนี้

นี่เป็นเนื้อหาตอนหนึ่งที่มีการพูดคุยผ่านคลับเฮาส์ในหัวข้อ “Upskilling / Reskilling” ซึ่งจัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) และสถาบันอนาคตไทยศึกษา

มุมมองที่น่าสนใจจาก "ดร.กาญจนา วาณิชกร" รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าสู่โลกดิจิทัลเร็วขึ้น ซึ่งทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้นอย่างน้อย 20 ปี อย่างคนที่อายุ 50 ปี ก็จะอยู่ได้ 80-90 ปี เด็กที่เกิดมาช่วงนี้ก็จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นการที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควรเตรียมการตั้งแต่ก่อนสูงอายุ ก่อนเกษียณ ทั้งด้านสุขภาพ และการเงิน

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราอาจต้องมาดูกลไกที่จะส่งเสริมผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ ให้มีแพลตฟอร์มที่รวบรวมการเรียนรู้ต่างๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้

"การที่คนเราอายุยืนขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งเรียนมัธยมให้จบภายในอายุ 17-18 ปี เพื่อต่อมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี เพื่อทำงานและรอวันเกษียณ รูปแบบนี้มันอยู่ในระบบที่อายุขัยเฉลี่ย 70 ปี ถ้าจะอยู่ 100 ปี  ในอนาคตเราควรจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่ต้องเร่งเรียนเร่งจบ" ดร.กาญจนา เผยมุมมอง

เธอยกตัวอย่างจากในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ที่้เมื่อเรียนจบมัธยมก็จะออกไปค้นหาตัวเอง ไปทำงาน แล้วค่อยกลับมาเรียนปริญญาตรี โดยสถิติของอเมริกาอายุเฉลี่ยเด็กเรียนปริญญาตรี อยู่ที่ประมาณ 21 ปี และยังเสริมด้วยว่าในช่วงชีวิตของเราควรมีหลายอาชีพ ควรมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับทั้งระบบ

สำหรับมหาวิทยาลัย ก็ต้องออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่หลากหลายและยืดหยุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนออนไลน์ ปริมาณหลักสูตรต้องพอเหมาะ และตอบโจทย์ รองรับชีวิตแห่งอนาคตที่มีหลายขั้น หรือที่เรียกว่า Multistage Life ซึ่งการออกแบบแพลตฟอร์มต้องเข้าถึงได้ง่าย มีช่องทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ส่วนทิศทางในอนาคต จะไม่เน้นการเรียนรู้เพื่อให้ได้ปริญญา รวมทั้งบริษัทต่างๆ ก็เน้นทักษะเป็นหลัก ซึ่งการเรียนแบบ Non Degree จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนเข้ารับการอัพสกิล (Upskill) กันอยู่ตลอด

ดร.กาญจนา ระบุว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เอง ก็เริ่มทำโครงการเครดิตแบงก์ ให้เด็กที่เข้ามาเรียนสามารถสะสมเครดิต พอถึงจุดหนึ่งก็สามารถนำเครดิตที่สะสมไว้ เทียบเคียงกับปริญญา หรืออนุปริญญาในสาขานั้นๆ ได้

“ภาครัฐควรปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ และควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เล่นที่อยู่ในส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่น มีอิสระและความคล่องตัวในการจัดเรียนรู้ให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้น” รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

เธอสรุปว่า ในโลกยุคใหม่ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ซอฟท์สกิล เพื่อสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ต้องทำงานกับนานาชาติมากขึ้น มีความฉลาดในการเข้าสังคมตามทันโลกในสื่อดิจิทัล มีความคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การต่างๆ

ขณะที่ในส่วนของผู้สูงอายุ ก็ต้องมีทักษะ Unlearn-Relearn คือไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ท พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ให้เป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือและแนะนำผู้อี่นได้

พร้อมกับโจทย์หลังจากนี้ ที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัยใกล้เกษียณ ให้เป็นผู้สูงอายุที่ยังแอคทีพ ยังมีคุณประโยชน์ โดยส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ที่จะประกอบอาชีพ ใช้ชีวิต ทำประโยชน์ให้สังคม และดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีควาสุขทั้งร่างกายและจิตใจ