ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 ภาครัฐไทย โดยเฉพาะรัฐบาลและคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ มีทีท่าต่อแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนไปจากเดิม

จากที่พยายามป้องกันและจำกัดเพื่อให้โรคระบาดหมดไป เปลี่ยนเป็นความพยายามที่จะให้คนไทย อยู่ร่วมกับโควิด ให้ได้ 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) เพื่อแจก เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า โหมดในการใช้ชีวิตของคนไทยในขณะนี้ คือ Living with COVID หรือการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19

สธ. บอกว่า สิ่งที่จะเร่งดำเนินการ คือ 1. ระดมฉีดวัคซีน 2. สื่อสารให้ประชาชนตระหนักว่ารอบตัวมีผู้ติดเชื้อโควิด 3. เร่งตรวจหาเชื้อด้วย Antigen test kit (ATK) และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษา

สำหรับภาพใหญ่ในเชิงมาตรการ นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นมา รัฐบาล โดย ศบค. ได้ประกาศ “ผ่อนคลาย” บางส่วน เพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สำหรับ “การอยู่ร่วมกับโควิด” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มที่จะหันมาใช้นโยบายรูปแบบนี้กันแล้ว นั่นเพราะการ “ปิดๆ เปิดๆ เมือง” รังแต่จะสร้างความเสียหายมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติทางปากท้องและเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทยพึ่งพารายได้หลักจาก 2 เครื่องยนต์ ได้แก่ “ส่งออก” และ “ท่องเที่ยว” ซึ่งกินส่วนแบ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจระดับมหภาค มาตรการปิดเมืองหรือมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ยิ่งบีบให้ 2 ภาคส่วนหลักนี้ “ดับ” หรือรอดยาก

มิหนำซ้ำภาคส่วนอื่นๆ ในประเทศก็กำลังประสบปัญหา เช่น การขาดรายได้ของร้านรวงเพราะถูกปิดร้าน การเดินทางข้ามจังหวัดที่ถูกห้ามเพราะป้องกันการเดินทางของเชื้อส่งผลต่อวงจรธุรกิจ อาชีพสารพัดที่ต้องหยุดทำมาหากินเพราะออกจากบ้านในยามค่ำคืนไม่ได้ ทั้งที่ยามค่ำคืนคือช่วงเวลาทำงานของอาชีพเหล่านั้น

ดังนั้น การนำชีวิตเดิมของผู้คนและเศรษฐกิจไทยกลับมา รัฐไทยจึงต้องมองหาวิธีที่จะให้ทุกคนดำเนินชีวิตร่วมกันโรคระบาดนี้ให้ได้ 

แต่จะทำอย่างไรนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความพร้อม” เพราะหากดำเนินนโยบายโดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี อาจจะต้องประสบกับปัญหาอย่างเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

‘ภูมิคุ้มกันหมู่ถ้าเอาไม่อยู่ก็ไม่รอด

ถ้ามองดูบทเรียนจากต่างประเทศแล้ว รัฐไทยก็อาจจะมองเห็นวิธีการและเรื่องราวของความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านั้นในการอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งหลักใหญ่ใจความที่สำคัญคือ

การมี ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity และการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ทั้งเรื่องการรักษาและวัคซีนที่ดีเพียงพอ เพื่อรองรับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จะสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน 

การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากตัวเลขการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในจำนวนที่มากพอ หรือมีการติดเชื้อในประเทศที่สูง แต่รักษาหาย ทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อเกิดภูมิคุ้มกันได้เอง

ตัวอย่างของการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแบบอยู่ร่วมกับโควิด-19 มีหลากหลาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือประเทศไม่ไกลอย่าง สิงคโปร์ ที่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 กัน คิม ยง ประธานร่วมของหน่วยงานเฉพาะกิจสำหรับบริหารจัดการโควิด-19 ได้ประกาศว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่จะสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ ในฐานะเป็น “ไข้หวัดธรรมดา” 

สิงคโปร์เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่อผู้คน กิจการร้านรวง การรวมตัวของผู้คน และชีวิตประจำวันตามปกติ จะกลับมาเหมือนเดิมทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ที่สำคัญคือการประกาศว่า สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่จบสถานะการมีโรคระบาด 

เหตุสำคัญที่สิงคโปร์ทำได้ คือการที่สามารถที่จะระดมฉีดวัคซีนให้ผู้คนบนเกาะได้ในจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนสิงหาคม สิงคโปร์สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรบนเกาะได้แล้วถึง 80% ซึ่งนี่เป็นตัวเลขที่ประเมินกันแล้วว่าจะสามารถเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ 

นอกจากนี้ ตัวเลขการติดเชื้อในสิงคโปร์ก็ส่งผลต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เช่นเดียวกัน ทั้งประเทศสิงคโปร์นั้น จากทั้งหมด 78,721 รายที่ติดเชื้อ มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 62 รายเท่านั้น ที่เหลือรักษาหาย มีภูมิคุ้มกัน และเสริมด้วยวัคซีน ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีแนวโน้มในการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่สูงเป็นอย่างมาก

หันไปมองไกลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหราชอาณาจักร เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติแล้ว ทั้งการไปมาหาสู่กัน การใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ หรือที่เห็นได้ชัดคือการที่สนามฟุตบอลขนาด 4-5 หมื่นที่นั่ง ของลีคฟุตบอลที่ตื่นตาตื่นใจผู้คนทั้งโลกกลับมา “เต็มสนาม” อีกครั้ง โดยที่ไม่ต้องใส่หน้ากาก

นี่ไม่ได้หมายความว่าสหราชอาณาจักรนั้นไม่เหลือเชื้อโควิด-19 แล้ว ในทางกลับกัน ตัวเลขการติดเชื้อยังคงมีสูง

6 ก.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อในวันเดียว 41,192 ราย ซึ่งเกาะกลุ่มต่อวันจำนวนเท่านี้มาตั้งแต่ช่วงกลางกรกฎาคม ถึงอย่างไรจำนวนผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ก.ย. กลับมีแค่ 136 รายเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วก็ถือว่าน้อยมาก

เหตุที่ยอดติดเชื้อสูง ยอดตายต่ำ และชีวิตกลับมาปกติได้นั้น เป็นเพราะสหราชอาณาจักร มีประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วกว่า 81.8% นั่นเอง นั่นทำให้ผู้คนมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะกลับมาใช้ชีวิตกันเหมือนเดิม การแพร่ระบาดก็เริ่มต่ำลง ผู้ที่อาจจะติดเชื้อและเจ็บป่วยก็มีโอกาสที่จะปลอดภัยสูง 

ประเทศอื่นๆ ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ทุกอย่างกลับมาใกล้เคียงกับปกติแล้วเกือบๆ 100% ผู้คนฉีดวัคซีนครบสองเข็มไปแล้วกว่า 55% 

ทว่าก่อนหน้านี้ ด้วยยอดติดเชื้อที่สูง การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็มีส่วนช่วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่ง ฝรั่งเศส ที่ใช้วิธีการมี “Health Pass” ให้ผู้คนบันทึกข้อมูลเช่นแจ้งการฉีดวัคซีนหรือแจ้งการตรวจเชื้อก่อนที่จะเข้าสถานที่บางแห่ง เพื่อช่วยให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

ตรวจแถวประเทศไทย เราพร้อมหรือยัง ?

แน่นอนว่า เมื่อมีประเทศที่พร้อม ก็ต้องมีประเทศที่ เปิดประเทศแต่ไม่พร้อม ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย ที่ในช่วงปลายกรกฎาคม 2564 มีการคลายล็อคดาวน์ในหลายเมืองใหญ่ ผู้คนออกมานอกบ้านได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากาก แต่สัดส่วนการฉีดวัคซีนยังต่ำมาก (ราวๆ 5 ล้านโดส รวมสองเข็ม จากประชากร 22ล้านคน) 

ทำให้ไม่นานก็เกิดการระบาดหนักขึ้นอีก และการล็อคดาวน์ก็กลับมาอีกครั้ง

ทั้งหมดนี้ สามารถนำมาเป็นตัวอย่างให้กับรัฐบาลไทยได้ ว่าการที่จะให้ผู้คนนั้นกลับมาอยู่ร่วมกับโควิด-19 ประเทศไทยนั้นพร้อมแล้วหรือยัง ทั้งการเตรียมตัวและการรับมือ

พูดถึงในเรื่องพื้นฐานอย่างการตรวจก่อน ยอดติดเชื้อต่อวันของประเทศไทยคงที่มาตั้งแต่ช่วงปลายสิงหาคม อยู่ที่ราวๆ 10,000 – 15,000 รายต่อวัน ซึ่งอาจจะดูน้อยเมื่อเทียบกับตัวอย่าง แต่เมื่อดูให้รอบก็จะพบว่า เราไม่รู้เลยว่านี่เป็นตัวเลขจากยอดตรวจจำนวนเท่าใด และคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของประชากรทั้งหมด

เมื่อติดเชื้อแล้วก็ต้องรักษา คำถามที่ตามมาก็คือแล้วเราจะรับภาระการรักษาไหวหรือไม่ !!?

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดปัญหาในระบบสาธารณสุขเรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 มาตลอด โรงพยาบาลไม่พอ โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ Hospitel ไม่เพียงพอ ยังดีที่ได้ระบบรักษาตัวที่บ้าน-ชุมชน (Home-Community Isolation) เข้ามาช่วย

ทว่า หากเราจะใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 จริงๆ หน่วยบริการหลักต้องมีความมั่นคง ความเพียงพอของทรัพยากรต้องมีความชัดเจน ยังไม่นับถึงบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ ยา ฯลฯ ที่ต้องพร้อมสำหรับการเกิดการระบาดระลอกใหม่

ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ความรู้ความเข้าใจของภาครัฐก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องสำรวจตรวจสอบ เพราะในความเป็นจริงตอนนี้ก็มีความสับสนวุ่นวายเป็นอย่างมาก การประสานที่ผิดพลาดจากความเข้าใจผิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขส่วนกลางและท้องถิ่น การดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น การส่งต่อผู้ป่วย การให้ผู้หายป่วยกลับไปอยู่ในสังคม ส่วนนี้ต้องยอมรับว่ายังมีความสับสนอลหม่านอยู่ และต้องเร่งแก้ไข

นี่ยังไม่รวมความสับสนของระบบจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเว็บไซต์ต่างๆ แอปพลิเคชั่นสารพัด ที่ใช้และบริหารกันอย่างสับสน ส่งผลให้การบริหารจัดการข้อมูลนั้นมีปัญหาไปหมด ซึ่งในส่วนนี้สำคัญ เพราะข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ควบคู่กับการผ่อนคลายในวันที่ 1 ตุลาคม ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองวัคซีน ใบรับรองผลตรวจ ฯลฯ 

รัฐพร้อมหรือไม่ที่จะบริหารจัดการข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ !!?

เงื่อนไขสำคัญการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไทย ซึ่งก็ต้องยอมรับอีกว่ายังเป็นหนทางอีกยาวไกลมาก เมื่อเปิดสถิติการฉีดวัคซีนของไทยจะพบว่า การฉีดวัคซีนของทั้งประเทศครบ 2 เข็มนั้นยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะจนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2564 มีผู้ได้รับสองเข็มเพียงแค่ 22.5% ของประชากรทั้งหมด เทียบกับที่ประเมินกันไว้ว่าอย่างน้อยต้อง 70% ถึงจะสามารถเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

และตัวเลขผู้ติดเชื้อ 1.4 ล้านคน (ยอดสะสมทั้งหมด) ก็อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่มากนัก เพราะเมื่อรักษาหายแล้วก็ยังไม่ได้รับวัคซีนอยู่ดี 

แต่เพื่อกลับมารักษาชีวิตประจำวันของผู้คน และรักษาเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ รัฐบาลต้องเตรียมการรับมือเอาไว้ให้ดี และแน่นอนว่าการอยู่ร่วมกับโควิด-19 นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้ว่าจะเป็นดาบสองคมก็ตาม แต่คนที่ถือดาบก็ระแวดระวังได้ว่าจะไม่ให้คมไหนนั้นต้องทำร้ายตัวเอง

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล และมันน่าจะท้าทายกว่าการรับมือการระบาดเสียอีก

เพราะโควิด-19 จะไม่มีวันหมดไป แต่ต้องเตรียมตัวเตรียใจให้พร้อมที่อยู่กับมัน

อ้างอิง
https://news.google.com/covid19/map?hl=en-US&state=5&mid=%2Fm%2F07f1x&gl=US&ceid=US%3Aen
https://covid19.workpointnews.com/
https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3147922/singapore-living-covid-19-feels-walking-tightrope
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Singapore-surge-tests-live-with-COVID-strategy-5-things-to-know
https://www.channelnewsasia.com/singapore/covid-live-endemic-restrictions-other-countries-2163161
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2172411/pm-admits-we-may-have-to-learn-to-live-with-covid
https://www.theatlantic.com/science/archive/2021/08/how-we-live-coronavirus-forever/619783/
https://www.nature.com/articles/d41586-021-00728-2
https://www.bbc.com/news/explainers-52530518
https://coronavirus.data.gov.uk/
https://www.bbc.com/sport/football/58179662
https://usafacts.org/visualizations/covid-vaccine-tracker-states/
https://www.theguardian.com/australia-news/datablog/ng-interactive/2021/sep/20/covid-19-vaccine-rollout-australia-vaccination-rate-progress-how-many-people-vaccinated-percent-tracker-australian-states-number-total-daily-live-data-stats-updates-news-schedule-tracking-chart-percentage-new-cases-today