ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 ประเทศไทยจะเริ่มใช้มาตรการ “COVID Free Setting” ทั่วประเทศ หากแต่การดำเนินการจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือพิจารณาตามสถานการณ์และความพร้อมของพื้นที่นั้นๆ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายไว้เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 ว่า “COVID Free Setting” เป็นมาตรการที่จะบังคับใช้ในอนาคต ซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

สำหรับ “COVID Free Setting” จะประกอบไปด้วยความปลอดภัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย  ด้านพนักงานปลอดภัย ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย และด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย

อย่างไรก็ดีมาตรการดังกล่าวนั้น เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง นั่นเพราะภายใต้แนวทางนี้มีการกำหนดมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวด

นพ.สุวรรณชัย ระบุว่า หากประชาชนจะเข้าใช้บริการในกิจการเสี่ยง เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้อง “แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส” หรือ “แสดงประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน” หรือ “ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ผลเป็นลบ” ในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน

จากแนวปฏิบัตินี้ จะเห็นได้ว่า “วัคซีน” และ “ผลตรวจ ATK” คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้ที่จะใช้บริการตามกิจการข้างต้น

‘วัคซีนโควิด’ เลือกปฏิบัติโดยรัฐหรือไม่

ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ( ณ วันที่ 28 ก.พ.- 18 ก.ย. 2564) พบว่ามีผู้ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 44 ล้านโดส แต่ถ้าดูจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม (ตามเกณฑ์มาตรฐาน) จะพบว่ามีเพียงประมาณ 14.9 ล้านรายเท่านั้น จากประชากรทั้งประเทศ 66.19 ล้านคน

หากรัฐบาลจะบังคับใช้มาตรการ “COVID Free Setting” โดยให้แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส (2 เข็ม) คำถามที่ตามก็คือ นี่เป็นมาตรการที่สร้างความเหลื่อมล้ำ-เลือกปฏิบัติกับประชาชนหรือไม่

ประการแรก การที่ประชาชนจะเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 หรือไม่นั้น อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นหลัก นั่นหมายความว่าจะมีประชาชนราว 15 ล้านคน จาก 66 ล้านคน ที่ใช้บริการได้เท่านั้น

ประการถัดมา เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของมาตรการ เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้วจะมีภูมิคุ้มกันในระดับสูง ไม่แพร่เชื้อ นั่นเพราะในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ สูตรการฉีดก็แตกต่างกัน หนำซ้ำระยะเวลาในการฉีดก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ “The Coverage” ว่า วัคซีนโควิด-19 มีหลายหลายชนิด ส่วนใหญ่ข้อมูลที่เห็นชัดเจน คือช่วยลดการป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต แต่จะไม่ได้ช่วยการป้องการติดเชื้อ

 “จากข้อมูลวิชาการทางการแพทย์มีวัคซีนไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า น่าจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างกันได้ แต่ก็จะลดได้ไม่ได้มาก หรือไม่ได้การันตีการลดการติดเชื้อ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนจะเป็นประโยชน์กับตัวคนฉีด เพราะลดโอกาสป่วย-ตาย แต่ยังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อและแพร่ให้ผู้อื่นได้” รศ.นพ.ธีระ ระบุ

นอกจากนี้ หากพิเคราะห์นโยบายในต่างประเทศมีการใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกัน พบว่าประเทศ “อิสราเอล” มีการใช้ “Vaccine passport” และประกาศใช้ระบบกรีนพาส “Green Pass” เพื่อแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนโควิด-19 

ผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป จะต้องแสดงเอกสารหลักฐานรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าใช้สถานที่หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คนขึ้นไป รวมไปถึงโรงยิม ร้านอาหาร สถานที่ประชุม สถานที่ท่องเที่ยว

นโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พึงพอใจแก่ชาวอิสราเอล จนเกิดการ “ประท้วง” เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยในขณะนี้ประชาชนชาวอิสราเอลราว 5.5 ล้านคน จากทั้งหมด 9.3 ล้านคน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 

เช่นเดียวกับที่ประเทศ “ฝรั่งเศส” ก็เกิดกรณี “การลุกฮือ” ของประชาชนกว่า 1.2 แสนราย ที่แสดงความไม่พอใจและออกมาประท้วงรัฐบาล หลังจากรัฐมีนโยบาย “บัตรสุขภาพ” โดยกำหนดให้ประชาชนแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือแสดงผลตรวจ RT-PCR หรือ ATK ที่เป็นลบภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง เพื่อได้สิทธิเข้ารับบริการร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือพื้นที่สาธารณะ

การประท้วงดังกล่าวยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ประท้วงยืนหยัดในหลักการว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นการ “เลือกปฏิบัติ” กับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19”

ชี้วัดด้วย ATK หละหลวมเกินไปหรือไม่

แม้ว่าประชาชนจะสามารถหาซื้อชุดตรวจ ATK ได้ง่าย บวกกับในปัจจุบันมีขายกันอย่างแพร่หลายทั้งในร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ แต่เมื่อมองถึง “ราคาชุดตรวจ” แล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะ “เกินเอื้อม” ไปสำหรับประชาชนบางกลุ่ม

ฉะนั้น นอกจากจะต้องจ่ายเงินเพื่อเข้ารับบริการแล้ว ประชาชนก็ยังจะต้องจ่ายเงินเพื่อตรวจคัดกรองก่อนเข้ารับบริการด้วยเช่นกัน

คำถามคือ ... นี่ก็เป็นมาตรการเลือกปฏิบัติ และสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนหรือไม่

นอกจากนี้ ข้อกำหนดให้แสดงผลตรวจต่อพนักงานก่อนรับบริการ ซึ่งแนวปฏิบัติในการแสดงผลตรวจก็ยังไม่ชัดเท่าใด

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผลตรวจดังกล่าว “มีความน่าเชื่อถือ” มากน้อยเพียงใด จะมีโอกาสเจอกับผลตรวจปลอมหรือไม่ และอะไรคือหลักประกันว่า ผลตรวจ ATK ที่นำมาแสดงนั้น เป็นของผู้ใช้บริการจริงๆ และตรวจในเวลาที่กำหนดจริงๆ

ยังไม่นับรวมกับกรณีชุดตรวจที่มี “หลากหลายยี่ห้อ” ในขณะนี้ ซึ่งคุณภาพ-ค่าความคาดเคลื่อนมีความแตกต่างกัน หากภาครัฐจะใช้มาตรการดังกล่าวกับประชาชนจริง รัฐจะทำอย่างไรเพื่อให้ผลตรวจ ATK เป็นมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ชุดตรวจเร็ว ATK ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ “มีหลายชนิด” คุณภาพแตกต่างกัน บางชนิด “ความไวความจำเพาะอาจไม่ถึง 90%” แนะนำให้ใช้ชุดตรวจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง 

สำหรับ ATK ที่ได้มาตรฐาน รศ.นพ.มงคล คุณากร หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ต้องมีความไวมากกว่าหรือเท่ากับ 90%

นั่นหมายถึง เมื่อทดสอบกับตัวอย่างที่ห้องปฏิบัติการเตรียมตามเกณฑ์ของ อย. ต้องได้ผลบวกมากกว่าหรือเท่ากับ 90% ของตัวอย่างที่ใช้ประเมินความไว

อย่างไรก็ตาม อย. ได้ให้ความสำคัญกับเกณฑ์ด้านความจำเพาะต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 98% เพราะไม่ต้องการให้มีผลบวกเทียม

ขณะเดียวกันข้อมูลจาก ดร.โรเบิร์ต คลินตัน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ระบุผ่านเว็บไซต์ North Carolina Health News เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ประชาชนหลายคนอาจไม่ทราบว่า การตรวจด้วย ATK อาจทำให้ “เกิดผลลบเทียม” นอกจากนี้หลายคนก็ยังไม่ทราบว่าการตรวจหาเชื้อด้วยชุด ATK อาจจะไม่พบผลบวกหากผู้ตรวจไม่มีอาการของโรคโควิด-19”

เช่นเดียวกันกับ รศ.ราเชล โรเปอร์ อาจารย์ประจำคณะจุลวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัย East Carolina ระบุว่า เราสามรถเชื่อผลบวกที่เกิดจาก ATK ได้ แต่ไม่ควรจะเชื่อผลลบจาก ATK เพราะอาจจะยังไม่เกิดการตอบสนอง

ด้าน ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกกับ “The Coverage” ว่า ATK ทำมาสำหรับการวินิจฉัย ไม่ได้ใช้สำหรับการคัดกรอง โดย ATK จะมีผลลบเทียมเยอะ และความไวของ ATK ในแต่ละชุดก็ไม่เท่ากัน ฉะนั้นทางออกที่ถูกต้องคือการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมจากการได้รับบริการสาธารณะอาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ สำหรับมาตรการที่รัฐออกมานั้นเพื่อโปรโมทวัคซีน ถ้าคนที่ไม่มี Vaccine passport ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องมีวัคซีนให้มากพอก่อน เพราะถ้ายังมีวัคซีนที่ไม่มากพอ และยังออกมาตรการก็อาจจะทำให้มีปัญหา ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลจะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ก่อนว่า มีวัคซีนให้เขาเพียงพอหรือไม่

“บางประเทศที่เคยใช้นโยบาย Vaccine passport ขณะนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว ประเทศอังกฤษก็กำลังจะยกเลิกเพราะเขาสำรวจภูมิต้านทานประชากรไปกว่า 90% แล้ว พบว่าประชาชากรมีภูมิต้านทางสูงมาก ขณะที่ประเทศอินเดียก็มีการสำรวจภูมิต้านทานตามธรรมชาติของผู้ที่ไม่ได้วัคซีนไปแล้วร่วม 90% แต่ประเทศไทยไม่เคยมีการสำรวจเลย เลยไม่รู้ว่าประชากรมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติเท่าไหร่” ศ.ดร.นพ.วีระศักดิ์ ระบุ