ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพคุ้นตาในโรงพยาบาลเอกชนระดับบิ๊กเนมในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 คือภาพของชาวต่างชาติเดินขวักไขว่สวนกันไปมา ทั้งการเข้ามารับการรักษา เข้ามาทำงานให้บริการทางด้านการแพทย์และสุขภาพ

เราสามารถพบเห็นคนไข้ระดับ VIP จากตะวันออกกลางหรือโลกตะวันตกเป็นเรื่องปกติ

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” หรือ Medical Tourism ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสุขภาพที่หลายคนอาจจะเพียงพบเห็นแต่ไม่คุ้นเคย

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นเป้าหมาย “อันดับหนึ่ง” ของผู้คนทั่วโลกในการมุ่งมารับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ อ้างอิงจากข้อมูลของ World Travel & Tourism Council (WTTC)

จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในปี2020 ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยนั้น กำลังก้าวขึ้นมาเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพและการลงทุนสูงกว่าอุตสาหกรรมอย่างจักรกลและหุ่นยนต์แล้ว

จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้พุ่งทะยานเกิน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหตุและปัจจัยที่ประเทศไทยนั้นกลายเป็นที่หนึ่งด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ก็มาจากหลายๆ องค์ประกอบรวมเข้าด้วยกัน แต่หลักๆ แล้วก็คือราคา-คุณภาพ และที่สำคัญคือแหล่งท่องเที่ยว

แน่นอนว่าเป็นที่รู้กันดี บริการทางการแพทย์นั้นมีราคาสูง แม้ในหลายประเทศจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบริการประชาชนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่การรอคอยก็กินเวลานาน กระนั้นจะหันไปใช้บริการเอกชนก็ดูเหมือนจะมีราคาแพงเกินไป

กลับกันในประเทศไทย ราคาของบริการทางการแพทย์นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า “ถูก” กว่าหลายประเทศในโลก ดังนั้นแล้วเมื่อคิดคำนวณค่าใช้จ่าย การจองตั๋วเครื่องบินรวมกับค่ารักษาพยาบาลในไทย อาจจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำใกล้บ้านในมหานครชิคาโกเสียอีก

ยกตัวเช่น ค่าใช้จ่ายในการรับบริการ MRI Scan ในสหรัฐอเมริกาต่อครั้ง ตกอยูที่ 2,611เหรียญสหรัฐโดยเฉลี่ย หรือประมาณ 81,000 บาท แต่ในไทย ค่าใช้จ่ายอยู่เพียงแค่ไม่เกิน 1,100เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 34,000 บาท เรียกได้ว่าถูกกว่ากันเกิน 50%

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด “เปลี่ยนเข่า” หรือ “สะโพก” ในออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณ 25,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 770,000 บาท แต่ถ้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย อาจจะเหลือเพียงแค่ 12,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็แค่เพียง 370,000 บาทเท่านั้น

เรียกได้ว่าค่ารักษาพยาบาลในไทยนั้นถูกกว่าโดยเฉลี่ยแล้วเกินครึ่ง แม้จะรวมค่าดำเนินการอื่นๆ ของโรงพยาบาลแล้วก็ยังนับได้ว่ามีราคาที่ “ย่อมเยา” มากกว่าที่ใดในโลก

แต่ถูกอย่างเดียวก็คงไม่พอ คุณภาพในการบริการและคุณภาพในการรักษาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก หรือพูดกันด้วยภาษาง่ายๆ คือหมอไทย “เก่ง” นั่นเอง

แต่นี่ไม่ใช่คำพูดลอยๆ เพราะในความป็นจริง จากรายงานของ CEOWORLD นิตยสารในสหรัฐอเมริกา ปี 2019 ได้จัดประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลกอันดับ 6 ได้คะแนนโดยเฉลี่ยที่ 67.99 และในส่วนของโครงสร้างระบบสาธารณสุขได้คะแนนไปถึง 92.58

และถ้าดูจากการเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งหลายก็จะพบว่า หมอไทยนั้นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ต้องใช้ความชำนาญสูง ไม่ว่าจะเป็นการมาเพื่อ ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดกระเพาะอาหาร รักษาโรคมะเร็ง รักษาการมีบุตรยาก รวมถึงศัลยกรรมพลาสติกต่าง ๆ

หมอเก่งอย่างเดียวคงไม่พอ คุณภาพการบริการก็สำคัญเช่นเดียวกัน การเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพในไทยของชาวต่างชาติในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เหล่าสถานบริการทั้งหลายนั้นมักจะให้บริการด้านสุขภาพคุณภาพสูงไปพร้อมๆ กับการบริการที่เรียกได้ว่าระดับ “5 ดาว”

ไม่ว่าจะเป็นห้องพักเหมือนโรงแรมหรู เจ้าหน้าที่ผู้สามารถให้บริการได้รอบด้านและมีความสามารถทางภาษา รวมทั้งการบริการดูแลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล เช่น การบริการดูแลจัดการด้านการท่องเที่ยวหรือความบันเทิงอื่นๆ หรือกระทั่งดูแลผู้ติดตามและครอบครัวของผู้รับบริการอีกด้วย

ทั้งหมดนี้อาจจะพบเห็นได้ไม่ยาก เช่น ในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำย่านลาดพร้าว พระราม 9 เพชรบุรีตัดใหม่ วิภาวดี เชียงใหม่ สมุย และภูเก็ต ที่เสนอให้บริการที่คุณภาพการรักษาและบริการอยู่ในระดับสูง มีราคาแพงเมื่อเทียบกับกำลังซื้อคนไทย แต่สำหรับผู้ป่วยต่างชาตินั้นมันถูกมากเหลือเกิน

อีกหนึ่งผลพลอยได้ที่มาพร้อมกับการเข้ามาใช้บริการในไทยก็คือการท่องเที่ยว ทั้งในช่วงรอการรักษา ช่วงพักฟื้น หรือหายดีแล้ว ผู้เข้ารับบริการในไทยสามารถที่จะท่องเที่ยวในประเทศไทย ตามแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกไปได้ในตัว หรือจะเลือกสถานบริการที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว เช่น สถานบริการด้านสุขภาพที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายทะเลหรือบนเกาะยอดนิยม ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้เข้ารับบริการเพียงเท่านั้น แต่ครอบครัวหรือผู้ติดตามที่เดินทางมาด้วยก็สามารถที่จะท่องเที่ยวประเทศไทยในระหว่างรอได้

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ และได้รับความสนใจจากทั่วโลก ตอบโจทย์หลายอย่างพร้อมกัน ผู้คนจากทั่วโลกสามารถรับบริการทางการแพทย์หรือสุขภาพได้ในราคาถูก คุณภาพดี และท่องเที่ยว

แต่ที่พูดมาทั้งหมด ไม่ใช่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ เพราะเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ไทยไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม มีการจำกัดการเข้าออกประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (และการท่องเที่ยวทั่วไป) ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล

เพราะเมื่อดูจากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2019 ก่อนการระบาด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 39,916,251คน แต่พอเข้าปี 2021 ลดลงเหลือเพียง 6,702,396 คน (ตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) หรือหายไปทั้งสิ้น 83.21%

รายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวมในปี 2019 นั้นมี 1,911,807,000บาท ก็หดหายไปจนประเมินไม่ได้ในปี 2020 เรื่อยมาจนถึงปี 2021

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการฟื้นตัวที่ช้าของไทยต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องยอดผู้ป่วยรายวันในประเทศที่เฉลี่ยอยู่ในหลัก 1-2 หมื่นรายต่อวัน ยอดเสียชีวิต 150-200 รายต่อวัน ตัวเลขการได้รับวัคซีนของคนไทยที่ยังไม่น่าพึงพอใจ (40.99% ได้รับเข็มแรก 21% ได้รับเข็มสอง ข้อมูลวันที่17 ก.ย. 2021) แม้ว่ารัฐบาลมีแผนจะเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว แต่ด้วยสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ คงยังไม่มีใครกล้ามาประเทศไทย

และยิ่งโดยเฉพาะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ใกล้ชิดบุคลากรทางการแพทย์ ความเชื่อมั่นต่อเรื่องสาธารณสุขไทยตอนนี้ยังไม่พร้อม

ยังไม่รวมถึงว่า ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนในการรับมือการเข้ามาของผู้คนจำนวนมหาศาลที่อาจจะนำเชื้อเข้ามาเพิ่มในประเทศ การเข้ามาไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือพร้อมหรือไม่ถ้าจะต้องรับมือกับการระบาดอีกระลอกที่มาพร้อมชาวต่างชาติ และที่สำคัญคือใน “เขตแดน” ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างโรงพยาบาลหรือสถานบริการด้านสุขภาพ การเกิด “คลัสเตอร์” เป็นเรื่องใหญ่

ดังนั้น ก้าวต่อไปของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศอย่างมหาศาลจะสามารถไปต่อได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ หรือเมื่อไหร่กันที่เหล่าบรรดานักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกลับมาใช้บริการ “หมอ” ในประเทศอีกครั้ง เมื่อไหร่ที่ความเชื่อมั่นทางด้านสุขภาพของประเทศไทยกับสถานการณ์โควิด-19 จะกลับมาเป็นมิตรกับ Medical Tourism อีกครั้ง

ก็ต้องตามดูกันต่อไป

อ้างอิง
https://insuremethailand.com/guides-tips/medical-tourism/a-complete-guide-to-medical-tourism-in-thailand/#whythailand
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1746289/thailands-healthcare-ranked-sixth-best-in-the-world
https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1990983/the-new-era-of-medical-tourism
https://www.pacificprime.co.th/blog/thailand-medical-tourism/
https://www.medego.com/en/blog/8376
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jitt/article/download/177741/162416/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/896568
https://www.bangkokbanksme.com/en/medical-health-tourism-thai
https://www.health-tourism.com/medical-tourism/statistics/
https://www.mymeditravel.com/guide/medical-tourism-in-thailand
https://www.bangkokpost.com/travel/1803964/medical-tourism-report-released
https://www.boi.go.th/upload/content/TIRMay2020.pdf
https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=592