ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 200 ราย ในจังหวัดภูเก็ต “ชมรมแพทย์ชนบท” ในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 จึงได้จัดหน่วย CCR Team ลงพื้นที่ใน จ.ภูเก็ต โดยจะเริ่มให้บริการในวันที่ 21 ก.ย. 2564


นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.ภูเก็ต ค่อนข้างหนักหนาสาหัส ทางชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ตอนบนและตอนล่างที่มีความพร้อมและมีกำลังคน จึงรวมตัวกันไปช่วยที่ภูเก็ต ในลักษณะงานที่คล้ายกับที่เราบุกกรุงเทพมหานคร (กทม.) คราวก่อน เบื้องต้นกำหนดจะให้บริการในวันที่ 21-30 ก.ย. 2564 และต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน ซึ่งภารกิจอาจจบก่อนวันที่ 30 ก.ย.ก็ได้

สำหรับหน่วยเชิงรุกในชุมชน (CCR Team) เป็นความร่วมมือระหว่างเขต 11 และเขต 12 โดยมี โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง, โรงพยาบาลสิชล จ. นครศรีธรรมราช,โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี โรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลปาดังเบซาร์ จ.สงขลา, โรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส  และโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา

ในส่วนของโรงพยาบาลรามัน ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งมีทั้งแพทย์ เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาลวิชาชีพที่สามารถ swap ผู้ป่วยได้ และมีทีมสนับสนุนอื่นๆ ที่จะไปจัดกิจกรรมการให้ความรู้ หรือการให้วัคซีนโควิด-19 รวมจำนวน 15 คน และได้เตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ โดยเฉพาะ Antigen Test Kit (ATK) เบื้องต้นคาดว่าหน่วย CCR Team จะให้บริการ swap ตรวจ ATK และให้บริการฉีดวัคซีน เป็นหลัก

นพ.รอซาลี กล่าวอีกว่า จ.ภูเก็ต ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศ ถ้าภูเก็ตพร้อม สามารถที่จะจัดการการระบาดโควิด – 19 ได้ระดับหนึ่ง และประชาชนมีภูมิคุ้มกันพอ ภูเก็ตแซนด์บ็อกก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ และถ้าภูเก็ตประสบความสำเร็จในเรื่องของการเปิดประเทศ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ ธุรกิจต่างๆ ในภูเก็ตก็จะเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้น

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่ายังมีพี่น้องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก ที่เข้าไปทำงานในภูเก็ต สมุย หรือเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของประเทศ ถ้าเมื่อไหร่เมืองท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถปรับฟื้นตัวเอง สามารถกลับมาใช้บริการได้ ก็จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ใช่แค่พี่น้องประชาชนชาวภูเก็ตเท่านั้น แต่เป็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

“แม้ว่าตอนนี้ที่ยะลาสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังหนัก ที่โรงพยาบาลมีเตียงโควิดที่รับผิดชอบอยู่เกือบ 500 เตียง จากปกติเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดแค่ 60 เตียง แต่ก็ยังเชื่อว่าโรงพยาบาลรามันยังสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ และในสถานการณ์อย่างนี้ เป็นสถานการณ์ที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ที่ไหนเดือดร้อน ถ้าทีมงานรามันสามารถแบ่งเบาภาระงานหรือช่วยเหลืออะไรได้ ยินดีและก็เต็มใจอย่างยิ่ง” นพ.รอซาลี กล่าว