ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 หรืออีกราว 10 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้ “มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5” ซึ่งถือเป็นฉบับใหม่ล่าสุด ภายหลัง สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้ยกร่างพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

ในอดีต การพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพจะถูกปรับเปลี่ยนตามสภาวะต่างๆ แต่ “มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ” ฉบับที่กำลังจะประกาศใช้นี้ ได้ใช้มาตรฐานองค์กรระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า ISQua หรือ IEEA (International Society for Quality in Health Care External Evaluation Accreditation) มาอ้างอิง

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สรพ. อธิบายว่า ปกติแล้วมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพจะได้รับการพัฒนาทุกๆ  4 ปี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมบางอย่าง เรียกได้ว่าเป็นฉบับ “เมเนอร์เชนจ์” โดยโครงร่างมาตรฐานจะเหมือนเดิม โรงพยาบาลไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพียงแต่มีบางอย่างเพิ่มเติมที่เป็นมูลค่าเพิ่มของโรงพยาบาลในการพัฒนา

จุดเด่นของ “มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5”  มี 5 ข้อ ได้แก่

1. กระบวนการพัฒนามาตรฐานอย่างมีส่วนร่วม กว้างขวาง ครอบคลุมทั้งภาควิชาการและผู้ใช้มาตรฐาน ด้วยสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเวิร์คช็อปผ่านออนไลน์ รับฟังทุกภาคส่วน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐาน และร่วมเป็นเจ้าของ

2. นำมาตรฐานจาก ISQua หรือ IEEA (International Society for Quality in Health Care External Evaluation Accreditation) มาปรับใช้ 

3. มีการบูรณาการบทเรียนและประสบการณ์ของโรงพยาบาลในการตอบสนองช่วงสถานการณ์โควิด เรื่องการแพร่ระบาดโควิดติดเชื้อ เอามาคิดวิธีปฏิบัติใหม่ๆ มาใส่ในมาตรฐานฉบับนี้ด้วย

4. มีคาดการณ์แนวโน้มการบริหารจัดการระบบสุขภาพที่จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น เพื่อมาชี้นำ ส่งเสริมการเรียนรู้

5. มีบูรณาการเอกลักษณ์ของไทย มิติจิตวิญญาณการแพทย์แผนไทย การสร้างเสริมสุขภาพ นำความเฉพาะของไทยใส่เข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการเรียบเรียงเกณฑ์ต่างๆ และวิธีการให้เข้าใจมากขึ้นตามเสียงสะท้อน

สำหรับ “ไฮไลท์” ที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับที่ 5 ในส่วนของ “ISQua” หรือ “IEEA” นั้น จะให้ความสำคัญกับบุคลากร

จากเดิมมาตรฐานทั่วๆ ไปจะมีแค่เรื่องของการบริหารจัดการ อัตรากำลัง แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามา สำหรับบุคลากรทางสาธารณสุข คือเรื่องคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย สภาวะแวดล้อมต่างๆ กลไกเรื่องการดูแลมิติจิตใจบุคคล และความปลอดภัยของบุคลากรในที่ทำงาน โดยให้ความสำคัญกับบุคลากรในทุกมิติ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเตรียมพร้อมกับภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ รวมถึงโรคโควิด โรคระบาด โดยโรงพยาบาลต้องมีการเตรียมแผนในการซักซ้อม มีการทบทวน เน้นให้เห็นความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

มีการเพิ่มเติมเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี เพิ่มความสำคัญของเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เรื่องของเทเลเมดิซีน เรื่องของ homeless care ก็ถูกใส่เข้ามาในมาตรฐานฉบับนี้ด้วย และด้วยความเป็นไทยจึงมีการใส่เรื่องแพทย์แผนไทยเข้าไปเป็นส่วนเฉพาะด้วย

“สิ่งสำคัญก็คือเวลาโรงพยาบาลจะพัฒนาแผน จะพัฒนากระบวนการ พัฒนาเซอร์วิสต่างๆ ต้องย้อนกลับมาฟังความต้องการของชุมชน สังคม ประชาชน เพื่อกลับไปออกแบบบริการเป็นมาตรฐานที่ทำให้โรงพยาบาลทำงานในเรื่องของการทำการพัฒนามาตรฐานที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชน” พญ.ปิยวรรณ ระบุ

ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยมีราวๆ 1,400 แห่ง เข้าสู่กระบวนการใช้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพมากกว่า 70% ของโรงพยาบาลทั้งหมด

สำหรับการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพมี 3 ขั้น ขั้นที่ 1 ไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐาน แค่ใช้กระบวนการคุณภาพแก้ปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขั้นที่ 2 เริ่มพัฒนาระบบและใช้มาตรฐานบางบท ขั้นที่ 3 ใช้มาตรฐานทั้งหมด

ทุกวันนี้ มีโรงพยาบาลที่ผ่านขั้น 3 จำนวน 60% ของโรงพยาบาลทั้งหมด แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเกณฑ์ว่า ควรจะผ่านทั้ง 100%