ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ “กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” ใช้ชีวิตยากลำบากกว่าคนปกติหลายเท่า เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง หนำซ้ำยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาล

งานเสวนาหัวข้อ “เสียงผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสถานการณ์โควิด-19” ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ HA ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีตัวแทนผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความยากลำบากในการรับบริการ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายจัดบริการสาธารณสุขไว้อย่างน่าสนใจ

อุปสรรคผู้ป่วย ‘โรคหายาก’

นางปวีณ์ริศา อัศวสุนทรเนตร มูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ระบุว่า โรคหายากเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีทั้งที่ถ่ายทอดโดยมีพ่อแม่เป็นพาหะ บางส่วนเกิดการกลายพันธุ์ หรือข้อมูลตอนที่ยีนส์มีการแบ่งตัวไม่ได้ส่งต่อไปให้ครบสมบูรณ์ ทำให้เด็กที่คลอดออกมาไม่สมบูรณ์ มีปัญหาพัฒนาการสติปัญญา พิการหรือพิการซ้ำซ้อน ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากมีปัญหาใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ประกอบด้วย

1. การเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และการรักษา ปัญหาที่ผู้ป่วยส่วนมากเจอคือแพทย์เลื่อนนัด เช่น กายภาพบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรคพันธุกรรมผ่าตัด การฝึกกล้ามเนื้อ นวดกดจุด ฝึกพูด โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าถ้ามาโรงพยาบาลอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการเลื่อนนัด การติดต่อประสานทำนัดใหม่ยากมาก ไม่ทราบว่าผู้รับผิดชอบคือใคร หรือหากต้องการติดต่อนอกเวลาก็ไม่ทราบว่าต้องติดต่อใคร

นอกจากนี้ ในบางโรงพยาบาลอาจมีการตรวจแบบทางไกล ซึ่งก็จะเจอปัญหาคือมีการจัดบริการเฉพาะบางโรงพยาบาล ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และการตรวจทางไกลก็มีข้อจำกัดสำหรับบางโรค เช่น โรคที่ต้องตรวจเลือดอย่างต่อมไร้ท่อ ก่อนพบแพทย์ต้องมีการเจาะเลือดก่อนล่วงหน้า ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกล เช่น บนเกาะ สถานพยาบาลไม่สามารถตรวจเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจ การปรับลดยาหรือติดตามอาการที่ต้องดูผลเลือดจึงไม่สามารถทำได้

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการตรวจทางไกลแล้วจัดส่งยามาให้ที่บ้าน ก็พบปัญหาว่าบางครั้งยาที่ส่งมาได้รับความเสียหายหรือล่าช้า เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย เช่น ผู้ปกครองบางรายที่ลูกต้องทานยากันชัก พอบริษัทขนส่งทำให้ขวดยาแตกก็ต้องทำเรื่องเบิกใหม่ หรือบางรายการที่ไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองก็ต้องจ่ายเงินเอง ทำให้ผู้ป่วยรับได้ยาล่าช้ากว่ากำหนด

นอกจากนี้ ในรายที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด การเดินทางก็จะยากลำบากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเดินทาง ชนิดของพาหนะที่ต้องระวังไม่ปะปนกับคนอื่น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งแพงมากเพราะโรคหายากส่วนใหญ่จะต้องพบแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตามโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่ใน กทม.หรือจังหวัดใหญ่ๆ และเมื่อมาแล้วก็ต้องมีปัญหาเรื่องที่พัก ต้องกักตัว 14 วัน ยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพิการด้วยจะมีปัญหามาก ทำให้บางส่วนเลือกใช้วิธีรักษาทางไกลประคองอาการไปก่อน

2. ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถทำกิจกรรมบำบัดเพื่อรักษาอาการหรือเยียวยาให้อาการทุเลาลง เช่น อาชาบำบัด วารีบำบัด นวดกดจุด ซึ่งเมื่อผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กถูกจำกัดอยู่ในบ้าน ทำให้ขาดพัฒนาการ ขาดการเรียนรู้นอกบ้าน อีกทั้งผลจากการอยู่ในบริเวณพื้นที่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยมีความเครียด ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม ทำให้ภาวะเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น ในบางโรคที่ต้องอาชาบำบัดหรือวารีบำบัด เมื่อไม่ได้ออกไปก็ทำให้เกิดพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ครอบครัวก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมเหล่านี้ด้วย

นอกเหนือไปจากตัวผู้ป่วยแล้ว ในส่วนของครอบครัวก็ประสบปัญหารายได้ลดลง หรือบางครอบครัวรายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ประเด็นนี้ยิ่งทำให้ครอบครัวเกิดความเครียด

“อีกประเด็นที่อยากสะท้อนคือผู้ป่วยโรคหายากจริงๆ มีจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย แต่ไม่ได้อยู่ใน 7 โรคเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขให้สิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ระยะแรก ทั้งที่บางโรคมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก” นางปวีณ์ริศา ระบุ

สำหรับผู้ป่วยโรคหายาก มีข้อเสนอแนะต่อผู้ให้บริการใน 3 ประเด็นคือ

1. ให้กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากและผู้ดูแลใกล้ชิดสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ ปรับปรุงฐานข้อมูลของระดับประเทศที่สามารถทราบใครเป็นผู้ป่วยโรคหายากเมื่อไปลงทะเบียนฉีดวันซีน

2. กรณีของผู้ป่วยโรคหายากที่ติดไวรัสโควิด-19 ควรจะจัดหน่วยบริการ/แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหายาก ให้คำปรึกษาหรือให้การดูแลร่วมกับทีมที่รักษา

3. เนื่องจากภาวะโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไม่ได้ บางอย่างต้องใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อนประคับประคอง จึงอยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มผู้ป่วย เพื่อที่กรณีไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ ก็ยังจะสามารถรับคำปรึกษาเพื่อประคับประคองกันไปได้ก่อน

‘ผู้ป่วยมะเร็ง’ เลื่อนฉายแสง

ด้าน น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงค่อนข้างที่ยากลำบากของผู้ป่วยมะเร็งพอสมควร ส่วนมากมีปัญหาถูกเลื่อนการผ่าตัด ทำให้แพทย์ต้องเปลี่ยนแผนการรักษา อาจจะเป็นการให้ยาก่อนหรือการเปลี่ยนฉายแสงไปก่อน และเมื่อเลื่อนคิวผ่าตัดแล้วก็ไม่มีคิวที่แน่นอน บางคนได้คิวแล้วก็โดนเลื่อนอีก

ปัญหาต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พัก เวลามาโรงพยาบาลต้องกักตัว 14 วัน จะเดินทางกลับมาก็กักตัวอีก รวมทั้งผู้ดูแลก็ไม่สามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกไปทำงานได้ ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการเติมเลือด แต่เนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนเลือด แพทย์อาจให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดแทน

ผู้ป่วย ‘เบาหวาน’ อยากได้แผ่นตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว’

นางศุภลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ ประธานชมรมผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า ในส่วนของผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มเสี่ยงระดับต้นๆ ที่ถ้าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้มีไข้เฉียบพลันและเกิดภาวการณ์ขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ในภาวะโควิด-19 ปัญหาที่เจอคือผู้ป่วยถูกแพทย์เลื่อนนัด ในระหว่างนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูงโดยไม่รู้ตัวจนเกิดอาการข้างเคียงมากมาย

สำหรับข้อเสนอคือให้ สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์แจกแผ่นตรวจน้ำตาลที่ปลายนิ้วคนละหนึ่งกล่อง เพื่อที่จะได้ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วได้ ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ/สูง จะได้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ที่เท่าไหร่และเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเป็นโรคแทรกซ้อนตามมา

‘แรงงานข้ามชาติ’ แทบไม่มีสิทธิ

ขณะที่ น.ส.เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล เจ้าหน้าที่กฎหมายและนโยบาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวว่า ในส่วนของมูลนิธิมีบทบาทการทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ พบว่าแรงงานข้ามชาติมีปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมาก

น.ส.เพ็ญพิชชา ยกตัวอย่างแรงงานหญิงต่างชาติรายหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ท้องใกล้คลอดแล้วแต่ประเมินความเสี่ยงแล้วมีโอกาสป่วยโควิดสูง โรงพยาบาลซึ่งไปใช้สิทธิตามสิทธิประกันสังคมปฏิเสธการทำคลอดให้ ทั้งๆ ที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่ มีบุคลากรและอุปกรณ์ครบครัน รวมทั้งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ปกติแล้วแรงงานต่างด้าวจะไม่ถูกเรียกเก็บ

น.ส.เพ็ญพิชชา บอกว่า ไม่ว่าจะเจรจาอย่างไรโรงพยาบาลดังกล่าวก็ไม่ยอมทำคลอดให้ จนเด็กในท้องเริ่มดิ้นน้อยลง แม่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก สุดท้ายผู้ป่วยทนไม่ไหวต้องย้ายไปคลอดที่อีกโรงพยาบาลหนึ่งซึ่งมีความพร้อมน้อยกว่า แต่โรงพยาบาลนั้นรับทำคลอดให้ทันที ปลอดภัยทั้งแม่และลูก รวมทั้งได้เข้าสู่กระบวนการรักษาโรคโควิด-19 ด้วย

“ที่อยากจะมาพูดคือมันเป็นการปฏิเสธการรักษาในภาวะฉุกเฉิน เราเข้าใจสถานการณ์ตอนนี้ เข้าใจบุคลากรทางการแพทย์ แต่ก็ต้องการส่งเสียงที่เบามากของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ว่าสิทธิการรักษาพยาบาลที่ยากอยู่ในช่วงปกติก็ยิ่งยากเข้าไปอีกในช่วงโควิด ยังไม่รวมถึงการตรวจคัดกรอง การได้รับวัคซีนต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติมีโอกาสน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับคนไทย”น.ส.เพ็ญพิชชา กล่าว