ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา Kojo Nimako ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ และ Margaret E. Kruk ศาสตราจารย์ด้านระบบสุขภาพ วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) ได้เสนอแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพผ่านวารสารทางการแพทย์เดอะแลนซิต (The Lancet)

สำหรับแนวทางดังกล่าว ระบุว่า วิกฤติการแพทย์ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ตอกย้ำความต้องการระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ อันหมายถึงระบบสุขภาพที่สามารถยกระดับสุขภาพของประชากรทุกคน รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากผู้รับบริการ และปกป้องผู้ป่วยจากภาวะล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล

ผู้เขียนเสนอให้ประเทศต่างๆ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สร้างฉันทามติร่วมกันในการยกระดับระบบสุขภาพให้มีคุณภาพ และเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

รากฐานของระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ มาจากการกำหนดเป้าประสงค์ที่ชัดเจน มีทรัพยากรที่เพียงพอ เข้าใจข้อจำกัดของระบบ และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการให้บริการ  

สำหรับประเทศรายได้น้อยที่มีทรัพยากรจำกัด ผู้เขียนเสนอให้ผู้นำประเทศลงทุนเพิ่มเติมใน 4 ด้าน ดังนี้

1. ปฏิรูปการศึกษาด้านการแพทย์ เพราะระบบการศึกษาเป็นที่มาของทักษะให้ผู้ให้บริการ บ่มเพาะทัศนคติในการทำงานและต่อผู้ป่วย การศึกษาไม่ควรเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานเชิงรับ ด้วยการรักษาผู้ป่วยที่ปลายทาง และไม่ควรมองการบริการทางการแพทย์เป็นงานด้านสังคมสงเคราะห์

แต่การศึกษาควรเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น สร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่ปรับตัวง่าย มีความยืดหยุ่น สามารถทำงานในวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้คือทักษะการทำงานแห่งศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ ควรเน้นสร้างทีมที่มีสมาชิกที่มีความรู้จากหลายศาสตร์ ไม่ใช่มีแค่หมอหรือพยาบาล แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น เช่น นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา ผู้แทนสถาบันท้องถิ่น องค์กรนานาชาติที่มีนวัตกรรม และควรนำบริการการแพทย์ทางไกลมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน

2. เพิ่มทางเลือกสถานที่ให้บริการ เพราะรูปแบบการให้บริการแบบดั้งเดิมผ่านจุดให้บริการ เช่น คลินิค และโรงพยาบาล ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาโรคติดต่อและให้บริการขั้นพื้นฐาน อาจไม่เหมาะกับประเทศที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร และมีลักษณะโรคที่เปลี่ยนแปลงไป

ประชากรในหลายประเทศเสียชีวิตจากโรคติดต่อน้อยลง แต่กลับมีอัตราเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ป่วยในบางโรค เช่น เอชไอวี ความดัน และเบาหวาน สามารถรักษาและติดตามได้ที่ศูนย์บริการปฐมภูมิซึ่งมีพยาบาลหรือเภสัชกรที่ผ่านการอบรม

ขณะที่การดูแลประชากรบางกลุ่ม เช่น หญิงตั้งครรภ์ ยังต้องการสถานพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าคลอด การถ่ายเลือด ไปจนถึงการรักษาภาวะแทรกซ้อน การเลือกสถานที่ให้เหมาะกับกลุ่มประชากรและกลุ่มโรค จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วย

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ควรพิจารณนวัตกรรมอย่าง Telemedicine ซึ่งเป็นบริการที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงโควิด-19 ระบาด รวมทั้งควรพิจารณาการทำงานร่วมกับองค์กรที่มิใช่สถานพยาบาล เช่น โรงเรียน ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสถานที่ให้คำปรึกษาอนามัยเจริญพันธุ์ หรือองค์กรทางศาสนา ซึ่งช่วยดูแลด้านสุขภาพจิตของผู้คน

3. ทำยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ ควรออกแบบกลไกการเงินและการจ่ายชดเชยให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ด้วยตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์สุขภาพ

ต้องวิเคราะห์ความต้องการของผู้ให้บริการ เช่น ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเงินเดือนของพนักงาน เพื่อทำความเข้าใจต้นทุนของผู้ให้บริการ และทรัพยากรที่เขาต้องการเพื่อยกระดับบริการสุขภาพ การวิเคราะห์ดังกล่าวจะช่วยให้นักออกแบบนโยบายหาวิธีสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้ให้บริการสร้างมาตรฐานบริการที่สูงขึ้น

การออกแบบกลไกทางการเงินมีความสำคัญในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะในหลายกรณี แรงจูงใจทางการเงินอย่างเดียว ไม่พอที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการปรับปรุงคุณภาพบริการที่มีความซับซ้อน

การออกแบบกลไกทางการเงินจึงควรทำร่วมกับการออกแบบวิธีการบริหารจัดการ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนนักบริหารมืออาชีพในระบบสุขภาพ ก็อาจสามารถสร้างวัฒนธรรมนิยมคุณภาพในหมู่ผู้ให้บริการได้

4. พัฒนาระบบข้อมูลผู้ป่วย แม้ว่าประเทศรายได้น้อยจำนวนหนึ่งได้พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ แต่ส่วนมากยังไม่มีข้อมูลผู้ป่วยระดับบุคคล ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบลงทะเบียน การให้บริการกับผู้ป่วยต่อเนื่อง และการประเมินคุณภาพการบริการ

การมีข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นปัจจุบัน ทำให้ระบบสุขภาพสามารถรับมือกับวิกฤติไม่คาดฝัน ดังที่เห็นในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด

เมื่อสถานพยาบาลถูกเปลี่ยนเป็นที่กักตัวของผู้ติดเชื้อ สถานพยาบาลที่มีข้อมูลผู้ป่วยเป็นรายคน เช่น กรณีของหญิงตั้งครรภ์ สามารถย้ายบริการฝากครรภ์ไปอยู่บนโลกออนไลน์ เพราะแพทย์มีข้อมูลสุขภาพที่เพียงพอต่อการติดตามจากทางไกล

ผู้เขียนได้ย้ำในตอนท้ายของบทความว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นเสมือนจุดหันเห ที่ทำให้ผู้นำรัฐบาล สถานประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และเครือข่ายการพัฒนานาชาติ เห็นความเสี่ยงจากระบบสุขภาพที่อ่อนแอ และพวกเขาควรใช้โอกาสนี้ ยกระดับบริการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น  

อ้างอิง
https://www.thelancet.com/journals/langlo/article/PIIS2214-109X(21)00356-9/fulltext#seccestitle140