ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นาทีที่โควิด-19 รุกคืบไปทั่วทุกสารทิศของโลก เป็นนาทีเดียวกับที่ “ความเปราะบาง” ของมนุษยชาติสำแดงตัวออกมาในหลากหลายมิติ

โรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้ตั้งโจทย์ตัวใหญ่ และเร่งเร้าให้ทุกคนร่วมกันแสวงหาคำตอบกันอย่างจริงจัง

เราจะเรียนรู้ ปรับตัว และตั้งรับ กับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างไร และด้วยท่าทีเช่นใด ?

แม้แต่เรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดอย่าง อาหาร การคุกคามของเชื้อไวรัสร้ายก็ได้ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยน ประเทศที่เคยมี “ความมั่นคงอย่างถึงที่สุด” ก็ยังสั่นคลอน นั่นหมายความว่า ในกลุ่มของผู้ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะยิ่งถูกบดขยี้จนต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากกว่าเก่า

ข้อมูลจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้ภาพสถานการณ์อาหารโลก โดยสถิติปี 2019 พบว่า มีประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 25.9% ของประชากรโลกทั้งหมด กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร

สำหรับ “เอเชีย” มีประชากรที่ตกอยู่ปากเหวมากถึง 1,000 ล้านคน

สำทับความรุนแรงด้วยข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์วิกฤตอาหารโลกประจำปี ค.ศ. 2020 โดย โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ที่ระบุว่า มีไม่ต่ำกว่า 165 ล้านคนทั่วโลก ใน 55 ประเทศ ที่กำลังเผชิญกับความอดอยาก หรือความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในปี 2020

WFP ยังคาดการณ์ต่อไปในอนาคตด้วยว่า หากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงและกระจายวงกว้างขึ้น จะมีเพิ่มอีกอย่างน้อย 100 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อความอดอยากขาดแคลนอาหาร

สำหรับ ประเทศไทย แม้จะมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ แต่จากวิกฤตโรคระบาดทำให้ระบบการผลิต-ขนส่ง และกระจาย ได้รับผลกระทบ

จากข้อมูล Global Food Security Index (GFSI) ซึ่งจัดทำโดย The Economist Intelligence Unit พบว่า ในปี 2019 “ประเทศไทย” มีระดับความมั่นคงทางอาหารอยู่ในอันดับที่ 52 จากทั้งหมด 113 ประเทศ

หากพิจารณาจากตัวเลขนี้ เห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ “กลางตาราง” มีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปในทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น หรือร่วงหล่นลงมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางได้เช่นกัน

นั่นเป็นเหตุให้จำเป็นต้องทบทวนนโยบายด้านอาหารกันอย่างจริงจัง

“ในภาวะที่เกิดวิกฤตโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า โลกยังเปราะบาง ระบบอาหารแต่ละประเทศมีขีดความสามารถในการผลิต และเผชิญต่อภาวะวิกฤตไม่เหมือนกัน ดังนั้นโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ” ดร.ธนวรรษ เทียนสิน ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) ระบุ

ดร.ธนวรรษ บอกว่า ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับพื้นที่ สังคมและประเทศ โดยสร้างความรู้สึกร่วมกัน ทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง อิ่มอย่างมีคุณภาพ  และอิ่มอย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ 23 ก.ย. นี้ จะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021) ซึ่งมีตัวแทนระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม โดยท่าทีของประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ก่อนจะถึงวันประชุม ได้มีการประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน อิ่มและดี 2030” “Healthy Diets for All” ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ เพื่อสกัดออกมาเป็นข้อมูลประกอบการประชุม UNFSS 2021

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัด กษ. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและการเกษตรต่างประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยได้วางแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน โดยได้จัดเวที ชวนคิด..ชวนคุย ระดับชาติ (National Dialogues) รวม 3 ครั้ง จนเกิดแนวทางและมาตรการที่มุ่งเน้นการพลิกโฉมระบบอาหารไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น

การดำเนินการดังกล่าว มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030 - SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายด้าน “การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งจะนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกด้วย

สำหรับการประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนของทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะทำให้เกิด 1. การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2. การสร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ แล4. การสื่อสารสังคม เพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ จนเกิดการรับรู้ ตระหนัก และสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน    

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เล่าว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จับมือกับภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการวิชาชีพ ภาคประชาสังคมและเอกชน ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ผ่าน กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็น รูปธรรม

ทั้งนี้ ประเด็นความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2563 ซึ่งถือเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับ ภาวะวิกฤตสุขภาพใหม่ที่มีอยู่แล้ว หรือวิกฤตสุขภาพอื่นๆ ในอนาคต ในภาวะวิกฤตอย่างสถานการณ์โควิด-19

“เราตระหนักดีว่า ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ โดยสามารถ เข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นธรรม ซึ่งสาระสำคัญในระดับนโยบายคือ การบัญญัติ “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีเป้าหมายสอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 1 คือ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่า สูง และประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรสร้างมูลค่า” นพ.ประทีป กล่าว

นอกจากนี้ สช. และภาคีเครือข่าย ยังมีวงปรึกษาหารือร่วมกับสภาพัฒนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งอยู่ ระหว่างจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในระยะ 5 ปี โดยวางเป้าไว้ว่า ภายในปี 2568 ประเทศไทยจะมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤต โดยจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับชาติที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. มียุทธศาสตร์การทำงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบห่วงโซ่อาหาร โดยบูรณาการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยในครัวเรือน โรงเรียน และองค์กร

สำหรับความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานครั้งนี้ สสส. จะร่วมกับภาคีเครือข่าย รวบรวมองค์ความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำฐานข้อมูลวิชาการ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ถอดบทเรียน สื่อสารความรู้สู่สังคม ที่สำคัญคือ มุ่งเน้นขับเคลื่อน บังคับใช้ และประเมินผลนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่ส่งผลต่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างทั้งการควบคุมและส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอาหารได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ