ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าอัตราการหายป่วย และรอดชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 จะสูงมาก หากได้รับการรักษาในสถานพยาบาล แต่ก็มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 0.9 ที่เสียชีวิต และต้องทนทรมานกับความพยายามรักษาที่ไม่สำเร็จ 

ผู้ป่วยโควิด -19 ที่เสี่ยงจะเสียชีวิตมากที่สุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

เมื่อติดเชื้อและมีอาการหนัก ผู้ป่วยจะถูกแยกไปให้ออกซิเจน ต่อมาก็ใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้าไม่สำเร็จก็แปลว่าจะไม่ได้พบหน้าใครอีก พูดไม่ได้อีก ไม่ได้สั่งเสีย และต้องจากไปอย่างโดดเดี่ยว

แต่ถ้ารอด ก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนเดิม อาจจะกลับบ้านในสภาพติดเตียง

ช่วงที่การระบาดหนักใน กทม. ผู้ป่วยมีมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลสนามทั้งหมดจะรับได้ จึงเกิดการดูแลแบบ home isolation (HI) เนื่องจากหลายครอบครัว ติดโควิดทั้งบ้าน การจัดส่งยาไปให้ที่บ้าน และดูแลกันเองจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนใหญ่จะหายเองที่บ้าน นัยว่าเฉพาะที่ป่วยหนักจึงหาเตียงที่โรงพยาบาล แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยหนักที่สุดกลับมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลได้น้อยที่สุด

“เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม” จึงได้เข้ามามีบทบาทในการรับปรึกษาเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจจะเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตที่บ้านได้ (ที่เรียกกันว่าผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง) โดยรับเป็น “palliative care จิตอาสา” ของระบบ home isolation ของกรมการแพทย์

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือด โรคมะเร็ง และชีวาภิบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แม้ว่าสังคมมองว่า การ “ตายคาบ้าน” เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ แต่เรามองเห็นว่า นี่แหละเป็นโอกาสที่ผู้ป่วยบางคนอาจ “ตายดี” ได้

นั่นเพราะผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยโรคร้าย หลายคนเข้าใจสัจธรรมอยู่แล้ว ถ้าเขาจะต้องตายก็ขออยู่สบายตายสงบที่บ้านตัวเอง ได้มีโอกาสทำเรื่องสำคัญก่อนหมดลม และเขาก็ยังได้รับยาฟาวิพิราเวีย และสเตียรอยด์จากระบบ HI ซึ่งก็อาจจะทำให้เขามีโอกาสรอดได้อีกด้วย

แต่ถ้ายาไม่ได้ผล เราจะสามารถช่วยมิให้ต้องทรมานจากการหอบเหนื่อยเพราะติดเชื้อโควิดได้ ลูกหลานที่ติดพร้อมกันก็สามารถดูแลได้จนหมดเวลา ได้มีโอกาสดูแลจิตวิญญาณ ให้สบายกาย สบายใจในช่วงสุดท้าย

การดูแลผู้ป่วยโควิด – 19 ต่างจากการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่เคยทำมา เพราะไม่สามารถไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านได้ ทำได้เพียงพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติผ่านทางโทรศัพท์ วิดีโอคอล หรือซูมเท่านั้น  

 

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม” ได้ให้คำปรึกษากับครอบครัวผู้ป่วยโควิด – 19  จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่จะได้คุยก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก หลังจากที่คุยแล้วญาติยืนยันจะส่งไปโรงพยาบาล 2 ราย เลือกอยู่บ้าน 18 ราย

อย่างไรก็ดี เมื่อได้เตียงก็เปลี่ยนใจส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล 5 ราย และมีรายหนึ่งที่ลูกตั้งใจดูแลแม่ที่ป่วยหนักที่บ้าน แต่ชุมชนไม่ยอม จับส่งโรงพยาบาล สุดท้ายแล้วมีผู้ป่วยเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 4 ราย กลับบ้านได้ 4 ราย เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านได้ 4 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (8 ราย) ไม่ได้ไปโรงพยาบาลเลยและอยู่สบายหายเองที่บ้าน

ศ.นพ.อิศรางค์ บอกว่า เราพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ไม่อยากไปโรงพยาบาลจริงๆ แต่ต้องต่อสู้กับความต้องการของญาติรอบตัวที่จะส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งก็เพราะความรู้สึกผิดที่คนในบ้านเอาไวรัสมาติดผู้สูงอายุ อีกส่วนหนึ่งก็เพราะความเชื่อเดิมที่ว่าโรงพยาบาลจะดูแลได้ดีกว่า และกระแสสังคมที่ไม่อยากให้มีคนตายคาบ้าน

การสนทนากับหมอที่เขาไม่ได้เจอหน้า มักไม่สามารถทัดทานความกดดันจากสังคมรอบด้านได้

โควิด–19 เป็นเหตุที่เราควรคุยกับผู้สูงอายุ เพื่อจะได้รู้ว่าผู้สูงอายุคิดยังไงหากติดโควิดและป่วยหนัก ถ้าผู้สูงอายุไม่อยากไปโรงพยาบาล ตายไม่กลัว กลัวทรมาน เมื่อติดโควิดก็เลือก HI ไม่ไปโรงพยาบาลเลยก็ได้ หรือปรึกษาเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม เสียตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ป่วย จะได้วางแผนดูแลชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ป่วยโควิด – 19 ที่สนใจ อยากปรึกษาเรื่องการรักษาแบบ palliative care ติดต่อทีมเยือนเย็น ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ได้ที่ โทร. 080-443-8080

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโควิด-19 แต่ต้องการปรึกษาเรื่องการรักษาแบบ palliative care สามารถติดต่อเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ทาง https://www.facebook.com/yuenyenSE/

อีเมล์:[email protected] ไอดีไลน์: : yyen2018  และ yyen0555 หรือโทร. 080-776-6712 และ 092-375-0555