ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จำเป็นต้องจับตาสถานการณ์เดือนตุลาคม 2564 อย่างใกล้ชิด หลังมีการส่ง “สัญญาณเตือน” ออกมา 2 ครั้งใหญ่ๆ

หนึ่งคือ คำพยากรณ์ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่ย้ำว่า ภายในเดือน ต.ค. หรือไม่เกินสิ้นปีนี้ เราต้องเผชิญกับโควิด-19 “ระลอก 5” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

อีกหนึ่งคือ ข้อมูลจากแบบจำลองการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ ศบค. หยิบยกขึ้นมาแถลงข่าวในวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า หากคุมสถานการณ์ไม่ดีอาจเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นในเดือน ต.ค. วันละ 3 หมื่นรายได้

หากพิจารณาจากตัวเลข “จำนวนผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อรายวัน” ระลอกเมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อัพเดท เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่มีผู้ป่วยรายใหม่ 14,798 ราย เสียชีวิต 144 ราย ก็อาจจะทำให้รู้สึกเป็นกังวลขึ้นมาได้

นั่นเพราะจากกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มลดต่ำลงทั้งในระดับประเทศ และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ทว่า ณ วันนี้ ตัวเลขได้ดีดกลับขึ้นมาเฉียดๆ 15,000 รายอีกแล้ว

จะเห็นได้ว่าแม้โดยภาพรวมกราฟดูเหมือนจะเป็นขาลง แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ทะลุ 10,000 ราย ทอดยาวมาเป็นเวลาราวๆ 3 เดือนแล้ว (นับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา)

มีเสียงเตือนจากแพทย์ไปในทิศทางเดียวกันว่า หากไม่สามารถกดกราฟให้หัวทิ่มลงมาได้ภายในสัปดาห์นี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่กราฟจะ “ปรับฐานใหม่”

“ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือประมาณวันที่ 15-20 ก.ย. 2564 จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะทรงตัวอยู่ในระดับใด” รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บอกกับ “The Coverage”

รศ.นพ.พฤหัส ย้ำว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสัมพันธ์กับมาตรการล็อกดาวน์ที่สิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2564 ฉะนั้นหากตัวเลขในช่วงกลางเดือน ก.ย.อยู่ในระดับใด ก็จะกลายเป็นตัวเลขของระลอกที่ 4 และจะทรงตัวไปถึงระลอก 5

กล่าวอย่างเจาะจง การได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่วิ่งวนอยู่แถวๆ 15,000 ราย และทรงอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้

“จากข้อมูลทั่วโลกที่ผมตามอยู่ในเวฟ 3 เมื่อตัวเลขขึ้นถึงขีดสูงสุดแล้ว หากมีการใช้มาตรการเข้มข้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 69 วัน จึงจะดึงตัวเลขให้ลดลงมาถึงเบสไลน์ได้ ถ้าช่วงพีคของเราคือกลางเดือน ส.ค. ช่วงประมาณปลาย ต.ค. ก็จะเข้าสู่เบสไลน์ ในกรณีนี้คือถ้ายังคงมาตรการที่เข้มข้นต่อไป แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ฉะนั้นแปลว่าโอกาสที่จะกดตัวเลขให้เข้าสู่เบสไลน์น่าจะยาก หรือนาน” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับ “The Coverage”

มากไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานอย่างเป็นทางการทุกวันนี้ อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด

จนถึงขณะนี้การตรวจคัดกรองโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่ การกระจาย

ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่จะเริ่มในวันที่ 15 ก.ย.นี้ หรือในอีก 2 วันข้างหน้า จึงมีความสำคัญ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมกระจายชุดตรวจ ATK ที่ซื้อมาทั้งหมด 8.5 ล้านชุด ออกเป็น 3 ก้อน

ก้อนแรก “พื้นที่ กทม.” จำนวน 2.5 ล้านสุด ก้อนถัดมา “เขตสุขภาพที่ 1-12” (ทั่วประเทศนอกเหนือจาก กทม.) อีกประมาณ 5 ล้านชุด และก้อนสุดท้าย “หน่วยบริการสังกัดกระทรวงอนามัย” อีก 4 แสนชุด

ส่วนที่เหลืออีกราว 6 แสนชุด สำรองเอาไว้

หลักใหญ่ใจความของการใช้ ATK คือการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว แยกผู้ติดเชื้อออกมา เพื่อ “ตัดวงจรการระบาด” ให้ไวที่สุด ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

เมื่อกระจายชุดตรวจลงไปแล้วขอให้วางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน ประชาชนต้องได้รับการดูแลที่รวดเร็วและไม่มีการปฏิเสธ ไม่ว่าจะตรวจด้วย ATK จากโครงการนี้หรือไปซื้อมาตรวจเองก็ตาม ถ้าอาการไม่หนักแนะนำให้ทำ Home Isolation แต่ถ้าจะรับเข้าโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาล ต้องทำ RT-PCR ก่อน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564

นั่นจึงเป็นไปได้ว่า หลังจากกระจายชุดตรวจเหล่านี้ไปสู่ “กลุ่มเสี่ยง” แล้ว เราจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

“นอกจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่ได้รับการตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR ซึ่งทุกวันนี้เห็นว่าลดลงเหลือราว 1.2-1.3 หมื่นรายต่อวันแล้ว อีกจุดที่ต้องดูคือตัวเลขจากการตรวจด้วย ATK ซึ่งปัจจุบันพบรายงานมากถึงกว่าวันละ 1.3 แสนราย และยังเพิ่มขึ้นมารวดเร็ว” นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุกับ “The Coverage”

แม้ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะสูงขึ้นจากการตรวจมากขึ้น หากแต่ขณะนี้ก็ยังไม่ถึงกับระดับ “ฝีแตก” ครั้งใหม่ ทว่าบุคลากรทางการแพทย์ – ระบบบริการ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากแพทย์ไปในทิศทางเดียวกันอีกเช่นกันว่า การดูแลและแบกรับตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาลได้ดีหรือไม่นั้น – ระบบสาธารณสุขจะไปต่อได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของ “ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน” หรือ Home Isolation : HI รวมถึง “ระบบการดูแลโดยชุมชน” หรือ Community Isolation : CI

โดยเฉพาะ HI ถือเป็น “ด่านหน้า” คอยทำหน้าที่สกัดไม่ให้หน่วยบริการต้องเผชิญกับสภาวะหลังแอ่น จากผู้ป่วยอาการรุนแรง

“หลังจากนำระบบรักษาตนเองที่บ้านมาใช้กับผู้ป่วยโควิดสีเขียว ทำให้สถิติผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเหลือเพียง 10% เท่านั้น ส่วนอีก 90% ทำการรักษาที่บ้านหมด ดังนั้นแม้จะมียอดผู้ติดเชื้อวันละหมื่นกว่าราย หากใช้แผนนี้เชื่อว่าสามารถรับมือได้” รศ.นพ.พฤหัส ระบุ

HI จึงไม่ใช่ระบบการรักษาแบบ “ตามเวรตามกรรม” อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นระบบที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อพยุงระบบบริการสุขภาพไม่ให้ล่ม

นอกจากระบบการดูแลที่บ้านแล้ว หัวใจของการรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ยังอยู่ที่ “ระดับพื้นที่” โดยเฉพาะตำบล

นั่นเพราะ การมีหน่วยปฐมภูมิกระจายตัวอยู่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ คือจุดแข็งของไทย

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะมีบทบาทสำคัญครั้งใหญ่

ฉะนั้น เมื่อระบบ HI (รวมถึง CI) ควบรวมเข้ากับ “งานระดับพื้นที่” ได้อย่างเป็นเนื้อเดียว ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล ก็จะเกิดขึ้น

“การรับมือกับโควิด-19 หลังจากนี้ ชุมชนและตำบลต้องเป็นฐานการสู้รบ ซึ่งหากเราสามารถเชื่อมระบบการดูแลผู้ป่วย จากผู้ป่วยสีเขียวใน HI ผู้ป่วยสีเหลืองอ่อนใน CI ระดับพื้นที่ เข้ากับโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหลักได้ จำนวนผู้ป่วยหนักจนเกินภาระของระบบบริการและจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิต ก็จะลดน้อยลงและอยู่ในวิสัยควบคุมสถานการณ์” นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มั่นใจ

“ให้ชุมชน-ตำบลเป็นพื้นที่หลักในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพราะมีความเหมาะสมทั้ง HI และการจัดตั้ง CI ส่วนอำเภอให้ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง และอำเภอใหญ่หรือจังหวัดทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสีแดง” คือข้อเสนอจาก นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการ สปสช.

ตัวอย่างหนึ่งคือ มาจากการทำงานของ รพ.สต.เกาะเรียน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้ทำงานร่วมกับท้องถิ่น โดยปรับ “อาคารเรียน” มาเป็น CI

ท้องถิ่นทำหน้าที่จัดหาที่พำนักสำหรับคัดแยกผู้ป่วย ขณะที่ รพ.สต. ทำหน้าที่จัดบริการยา ทั้งฟ้าทะลายโจร และฟาวิพิราเวียร์

ทุกวันนี้ เรามี รพ.สต. ประมาณ 1 หมื่นแห่ง

หาก รพ.สต. ช่วยสนับสนุนการคัดกรอง เราก็จะมีพลังในการตรวจเพิ่มมากขึ้นราว 1 หมื่นหน่วย นั่นหมายถึง ผู้คน-ผู้ป่วย ก็จะไม่ต้องไปเบียดเสียดอยู่ที่โรงพยาบาล

“รพ.สต. ซึ่งมีอยู่มากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ นับเป็นกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง” นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุ

นพ.จเด็จ มั่นใจว่า ในวันนี้กำลังมี ATK เป็นเครื่องมือใหม่ โดยมี รพ.สต. เป็นพี่เลี้ยง และด้วยความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิในประเทศไทย แม้จะมีระลอกใหม่จนทำให้ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เราก็สามารถรับมือได้

เมื่อสำรวจความพร้อมของ รพ.สต. ผ่าน สมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. ที่บอกกับ “The Coverage” ทำให้พออนุมานถึงความเข้มแข็งของ รพ.สต. ได้

“ปัจจุบัน รพ.สต. หลายแห่งทั่วประเทศ ได้เข้าไปสนับสนุนในการตรวจของคณะทำงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือโรงพยาบาลอยู่แล้ว นอกเหนือจากการตรวจด้วย ATK รพ.สต. บางอำเภอที่ร่วมกับโรงพยาบาลก็มีการคัดกรองผู้ป่วยด้วยวิธี RT-PCR เช่นกัน” ประธานชมรม ผอ.รพ.สต. ฉายภาพ

“สมศักดิ์” ยืนยันหนักแน่นว่า รพ.สต. มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลประชาชน ซึ่งโดยหลักแล้ว เมื่อจังหวัดยืนยันเคสโควิด-19 ทาง รพ.สต. ก็จะทำงานร่วมกับ อสม. ลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงด้วย ATK เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมา

“ต้องดูภาพรวมของจังหวัดว่าจังหวัดใดเป็นพื้นที่สีแดง เมื่อดูในระดับจังหวัดแล้วก็ต้องดูในระดับอำเภอว่าพื้นที่ใดเป็นสีแดง หรือสีแดงเข้ม เราก็จะต้องมุ่งไปที่จุดนั้น” นายสมศักดิ์ อธิบาย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ “สมศักดิ์” รู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก ก็คือยังมี อสม. อีกหลายราย ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19

ฉะนั้น หลังจากลงพื้นที่ค้นหากลุ่มเสี่ยง อสม. อาจกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่แทน