ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดประเทศหนึ่งในอาเซียน หลังจากรัฐบาลเวียดนามผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจมากมาย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และดึงดูดการลงทุนจากนอกประเทศได้อย่างมหาศาล

แม้ว่าโควิด-19 จะระบาดหนักในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงกลางปี 2021จนทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามที่กำลังไปได้สวยต้องหยุดชะงักลง หากแต่เพียงครู่คราวเวียดนามก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างงดงาม

ทว่าการฟื้นตัวที่สวยงามนั้นเอง กำลังจะถูก “เตะตัดขา” ให้ชะงักลงอีกครั้ง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่หลายๆ ส่วนคาดหวัง

ก่อนหน้านี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเวียดนามดูเหมือนว่ากำลังจะดีวันดีคืน สวนทางกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตหนัก ทำให้หลายประเทศต้องอิจฉา

ความมหัศจรรย์แรกก็คือมูลค่าการเติบโตของ GDP เวียดนาม ในไตรมาสแรกของปี 2020 ก่อนการระบาดของโควิด-19 เวียดนามเติบโตถึง 3.68% เมื่อเข้าไตรมาสสองที่เริ่มมีการระบาดหนัก GDP ของเวียดนามก็ยังเติบโตต่อไป เพียงแค่อัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียงแค่ 0.39%

แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามก็กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ตัวเลขไตรมาสสองของปี 2021 GDP เวียดนามโตถึง 6.61%

มูลค่าการส่งออกก็เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไตรมาสสองของปี 2020 ช่วงโควิด-19 ระยะแรก มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พอมาถึงไตรมาสสองปี 2021 พุ่งขึ้นเป็น 7.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็เพิ่มจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสสองของปี 2020 เป็น 2.6หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุของการฟื้นตัวที่รวดเร็วของเวียดนามนั้น มาจากการวางนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนามที่มีประสิทธิภาพและการควบคุมการระบาดได้อย่างแข็งขัน และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการปกครองของเวียดนามที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม

รัฐบาลสามารถสั่งการตรงได้ทุกอย่าง รวบอำนาจเสร็จสรรพ

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเน้นการส่งออกของเวียดนามที่กลายร่างประเทศให้เป็นฐานการผลิตส่งผลให้เกิดการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศเข้ามาในเวียดนามจำนวนมหาศาล รัฐบาลเวียดนามยังสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตัล ผลักดัน E-commerce ให้เติบโต และยังทำการ “Regionalization” สร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจในประเทศตามพื้นที่ต่างๆ

ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะดึงดูดการลงทุนแล้ว ผลดีข้างเคียงคือการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ที่จะส่งผลต่อการเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศที่แข็งแรงมากขึ้น

แต่ตัวเลขที่สวยงามเหล่านี้ เป็นตัวเลขของไตรมาสสองปีนี้ เป็นตัวเลขก่อนที่การระบาดหนักอีกครั้งจะเกิดขึ้น ก่อนที่สายพันธุ์ที่ยากจะจัดการอย่าง “เดลต้า” จะมาถึง

นั่นหมายความว่า การเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามจนใครหลายคนต้องอิจฉานั้น สะท้อนภาพช่วงไตรมาสสองของปี 2020 ถึงไตรมาสสองของปี 2021 เท่านั้น

ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2021 ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเวียดนามอยู่เฉลี่ยที่ 200-300 รายต่อวัน ทว่าระยะเวลาเพียงแค่วันเดียว นับจากวันที่ 4 ก.ค. – 5 ก.ค. 2021 สถิติการติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจาก 890 ราย เป็น 1,102 ราย และคงที่อยู่เหนือหลักพันมาจนถึงวันนี้ (14 ก.ย. 2021)

ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่อยู่ในระดับร้อย ก็พุ่งเกือบแตะหลักพัน วันที่ 16 ก.ค. 2021 เวียดนามมีผู้เสียชีวิตในวันนั้นเพียง 18 รายเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ทะยานเข้าหลักร้อยในฉับพลัน

1 ก.ย. 2021 ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 803 ราย

จนในที่สุด เดือนสิงหาคม 2021 เวียดนามตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ประกาศ “ล็อดคาวน์” เมืองสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ

ในด้านการป้องกัน ภายใต้ความขัดแย้งกันระวางตัวเลขทางเศรษฐกิจที่กำลังไปได้ดีกับยอด “ติด-ตาย” ของเวียดนามที่น่าเป็นห่วง มีสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุสำคัญในเรื่องนี้ นั่นก็คือตัวเลขการฉีดวัคซีน

กลับกลายเป็นว่า จากประชากรเวียดนาม 98 ล้านคน มีเพียงแค่ 5.6 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส คิดเป็นเพียง 5.75% ของประชากรทั้งหมด

เหตุก็เพราะการขาดแคลนวัคซีน แม้ว่าเวียดนามเองจะพยายามซื้อและใช้วัคซีนที่หลากหลาย ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนก้า และซิโนฟาร์ม ก็ตาม

นี่จึงเป็นปัจจัยใหญ่ที่กำลัง “เตะตัดขา” เศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าเมื่อเกิดการระบาดหนัก วัคซีนฉีดน้อย ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งหมด

ในเวลาปัจจุบัน แม้ว่าผลของการระบาดของโควิดในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ได้เห็นผลทางตัวเลขเชิงเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด แต่ได้สร้างผลกระทบต่อปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มีสถิติบ่งชี้ว่า 66.9% ของประชากรเวียดนามมีรายได้ลดลง และมีถึง 8.2% ที่รายได้หายไปทั้งหมด ขณะที่ 8.5% ตกงานด้วยผลสืบเนื่องมาจากโควิด-19

ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและในความเป็นจริงก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวตามภาคอุตสหากรรมส่งออก นั่นคือ ภาคการท่องเที่ยว บริการ การบิน ขนส่งมวลชน เครื่องหนังและอุตสาหกรรมรองเท้า

สัดส่วนการปิดกิจการลงของธุรกิจต่างๆ โดยรวมในเวียดนามก็มีถึง 25.3% ของทั้งหมด ในช่วงปลายไตรมาสสองปี 2021 มีธุรกิจปิดกิจการไปแล้วถึง 70,000 แห่ง

โรคระบาดที่ควบคุมไม่ได้ จะส่งผลถึงแรงงานและการดำเนินกิจการ ยิ่งโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตเพื่อส่งออก อย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อแรงงานติดเชื้อโควิด-19 ทุกอย่างก็จะหยุดชะงักลง

แม้ว่าเวียดนามจะหันไปพึ่งเศรษฐกิจดิจิตัลมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่นโยบายเน้นการส่งออกก็ยังคงอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนในเร็ววัน

ตัวเลขรายได้ที่ลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น กำลังจะส่งผลต่อกำลังซื้อและอุปสงค์ภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจใหม่ๆ ในเวียดนามก็จะได้รับผลกระทบจากการขาดกำลังซื้อและจะนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ต่อไป ซึ่งในระดับมหภาคก็จะหนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน

ดังนั้นแล้ว เวียดนามจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร เพื่อคงเอาไว้ซึ่งตวามมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่คนทั้งโลกอิจฉา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 หรือเชื้อโรคที่กำลังคุกคามทุกคนอยู่ในขณะนี้ กำลังจะดึงรั้งการเติบโตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามจนต้องกลับมาฟื้นกันใหม่อีกรอบ

อ้างอิง