ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์รามาฯ เสนอ สปสช. บุกเบิกระบบ “ขึ้นทะเบียนเตียง” โรงพยาบาลทั่วประเทศ ลดข้ออ้าง ‘เตียงเต็ม’ เลือกรักษาเฉพาะที่ต้องการ


ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยกับ The Coverage ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่อยากมุ่งเน้นคือการจัดระบบเพื่อให้เกิดการขึ้นทะเบียนเตียงทั้งหมดในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการปฏิเสธคนไข้ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็คงไม่ทั้งหมด

ทั้งนี้ ปัจจุบันหากโรงพยาบาลใดต้องการปฏิเสธคนไข้ ก็จะบอกว่าเตียงเต็ม ซึ่งเป็นการปฏิเสธโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจจะเข้ามาบุกเบิกเรื่องนี้ได้

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตามอุดมคติแล้ว ข้อมูลต่างๆ ของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของสถานพยาบาล เช่น มีจำนวนเตียงเท่าไร แบ่งเป็นเตียงผู้ป่วยในเท่าไร เป็นเตียงไอซียูเท่าไร ควรเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงหรือรู้ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เห็นถึงความพร้อมในการรับมือการระบาด

“หากเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีเตียงไอซียู ก็จะต้องพร้อมรองรับผู้ป่วยที่เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดงด้วย ไม่ใช่ส่งต่อไปที่อื่นหรือจะเลือกรับเฉพาะผู้ป่วยสีเขียวเพียงอย่างเดียว” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า อีกส่วนหนึ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาคือช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียน หรือบอกได้ว่าโรงพยาบาลใดปฏิเสธการรักษาอย่างไร เพื่อให้เป็นกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลโรงพยาบาลด้วย

สำหรับปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ที่โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากออกมาโฆษณาเชิญชวนประชาชนเข้าคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ฟรี และพร้อมให้การรักษานั้น “ศ.นพ.ไพบูลย์” กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เนื่องจากขณะนี้ผู้ป่วยชาวต่างชาติหายไป และทาง สปสช. ก็ได้ปรับเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินที่มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น แต่คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเงินที่จ่ายไปแล้ว จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพตามที่คาดหวัง

“เมื่อโรงพยาบาลรับคนไข้เข้ามาแล้วก็จะต้องดูแลอย่างถ้วนหน้า ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้สีเขียว เหลือง หรือแดง ก็ต้องดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพของโรงพยาบาลนั้นจะทำได้ ซึ่งกองทุนสุขภาพ เช่น สปสช. ประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ในฐานะผู้ซื้อบริการ ก็จะต้องวางวิธีการหรือกลไกเพื่อให้ได้ข้อมูลว่า การรักษาเหล่านี้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และให้แน่ใจว่าการใช้จ่ายเงินในนามประชาชนไปนั้นจะได้รับประโยชน์กลับมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย" ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า เรื่องของระบบข้อมูลนี้เองที่นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก และมีตัวแปรหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคทำให้การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของทั้ง 3 กองทุนนั้นไปไม่ไกลเท่าที่ควร หนึ่งในนั้นคือการเล่นบทซ้ำซ้อนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอง ที่ด้านหนึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และอีกด้านหนึ่งก็เป็นเจ้าของหน่วยบริการ ขณะที่อีกส่วนคือวัฒนธรรมการรวบรวมข้อมูลของไทย ที่แม้ตามอุดมคติแล้วคือต้องการให้ข้อมูลทั้งหมดโปร่งใสและเชื่อมโยงกันได้ แต่อีกด้านหนึ่งหน่วยงานก็วิตกว่าความบกพร่องของตนจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย

"จากเหตุการณ์ที่มีการบอกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นจำนวนมากไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากจับได้ว่ามีการเล่นแร่แปรธาตุของข้อมูล คนไข้ที่ส่งมาเบิกไม่ได้รับบริการจริง สะท้อนให้เห็นว่าระบบข้อมูลมีความสำคัญมาก และเป็นเรื่องที่จะต้องลงทุน แต่การจะเอาชนะอุปสรรคที่ว่ามานั้น ภาวะผู้นำทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเปลี่ยนแปลงให้การเปิดเผยข้อมูลต่อจากนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้และพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่ตั้งต้นว่าการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ถูกตำหนิติเตียนหรือลงโทษ" ศ.นพ.ไพบูลย์ ระบุ