ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา “Neal Myrick” รองประธานฝ่ายผลกระทบทางสังคมของบริษัท Tableau Software และ “Skye Gilbert” ผู้อำนวยการ Digital Square องค์กรส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้เผยแพร่บทความบนเว็บไซต์ World Economic Forum เสนอให้ผู้นำทุกภาคส่วนนำเทคโนโลยีดิจิทัลแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ

ผู้เขียนเล่าว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขายกตัวอย่างบุคลากรทางการแพทย์ในแทนซาเนียทางทวีปแอฟริกา ซึ่งเคยใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงต่อเดือน เพื่อจัดการข้อมูลการให้และจัดหาวัคซีนบนรายงานกระดาษหลายหน้า

เมื่อมีระบบลงทะเบียนรับวัคซีนออนไลน์ในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสต็อกวัคซีน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดเวลาในการบริหารจัดการข้อมูล และลดความเสี่ยงวัคซีนขาดแคลนได้ถึง 70%

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในสายสุขภาพ จึงอาจไม่ใช่การทำแอพพลิเคชั่นหวือหวา แต่คือการใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบหลังบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนทำงาน และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรให้ได้มากที่สุด  

ผู้เขียนสรุป 5 ปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยแก้ปัญหาได้  

1. ขาดข้อมูลทางสุขภาพที่น่าเชื่อถือ
ข้อมูลบิดเบือน การขาดข้อมูลคุณภาพที่ตามทันสถานการณ์ ทำให้คนทั่วไปขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ หรือทำให้ฝ่ายนโยบายไม่สามารถออกแบบโครงการแก้ปัญหาสุขภาพได้ถูกจุด ยิ่งถ่างช่องว่างความหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในสังคม

เครื่องมือดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มส่งข้อความ และบริการส่งข้อความ สามารถเชื่อมชุมชนสู่แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตัวอย่างมีให้เห็นในโครงการ Visualize No Malaria initiative ซึ่งรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยมาลาเรียในแอฟริกา ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจหาแนวทางจัดการโรคมาลาเรียได้ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ

2. ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนยังคงเป็นความท้าทายที่แก้ไม่ตก องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มอีก 18 ล้านคน ประเทศทั่วโลกจึงสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพได้สำเร็จภายในปี 2573

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เช่น โรงพยาบาลในพม่าและอินเดียได้ทดลองใช้ AI สนับสนุนโดยองค์กร PATH ในการวินิจฉัยวัณโรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว หรือ AI ของสตาร์ทอัพ Babyl ช่วยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วย

3. ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือด้านการแพทย์
คุณภาพการรักษาพยาบาลขึ้นอยู่กับเครื่องมือด้านการแพทย์ เช่น ยา วัคซีน และอุปกรณ์วินิจฉัยโรค อย่างที่เห็นในช่วงโควิด 19 ระบาด ผู้ป่วยที่มีเครื่องวัดออกซิเจนสามารถดูแลตัวเองได้อยู่กับบ้าน

หากมีระบบข้อมูลที่ติดตามการใช้และลำเลียงอุปกรณ์เหล่านี้ ก็จะสามารถบริหารจัดการการกระจายอุปกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันปัญหาขาดแคลน เช่น ในแทนซาเนียและอินเดีย ได้นำระบบบริการจัดการข้อมูลลอจิสติกเข้ามาวิเคราะห์ปริมาณวัคซีนในสต๊อก   

4. ข้อมูลประชากรไม่ตรงกับความเป็นจริง
ในบางครั้ง ข้อมูลที่ระบบสุขภาพมีอยู่อาจไม่สะท้อนสถานการณ์ด้านสุขภาพประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบางที่มักตกหล่นจากการสำรวจ ส่งผลให้การวิเคราะห์และใช้ข้อมูลตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก

เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยขยายความครอบคลุมของการเก็บข้อมูลประชากร เช่น องค์กร PATH ริเริ่มโครงการ Healthy Markets ในเวียดนามเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชากรกลุ่ม LGBTQI+ ผ่านการจัดประชุมออนไลน์ ใช้แชทบอทตอบคำถามกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารผ่านหลากช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ค ติ๊กต๊อก เพื่อกระจายข้อมูลการป้องกันโรคและบริการทางการแพทย์

5. ผู้ป่วยล้มละลายเพราะค่ารักษาพยาบาล ขาดทางเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงิน
องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ USAID ประมาณการณ์ว่ามีคนจำนวน 950 ล้านคนทั่วโลก ที่ต้องใช้เงิน 10% ของครัวเรือนเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล และมี 100 ล้านคนที่ตกอยู่ในความยากจนรุนแรงเพราะค่าใช้จ่ายนี้ ดังนั้น ประกันสุขภาพจึงมีความสำคัญ ในฐานะเครื่องมือประกันความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรเปราะบางที่ไม่สามารถซื้อประกันด้วยตัวเอง หรือไม่มีแม้แต่บัญชีธนาคารสำหรับทำธุรกรรมหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันต่างๆ บริการทางการเงินดิจิทัลสามารถส่งเสริมการโครงการประกันสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่ายและโปร่งใส

ผู้เขียนเสนอว่าผู้นำในทุกภาคส่วนสามารถเริ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เพื่ออุดรอยรั่วที่เกิดจาก 5 ปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่กล่าวมาข้างต้น

โดยต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ขยายเครือข่ายพลเมืองโลกที่ทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพให้สำเร็จ

อ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2021/09/how-digital-technologies-can-address-5-sources-of-health-inequity/