ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ คาด โควิด-19 ระลอก 5 น่าจะมาแน่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะสูงกว่าระลอก 4 แต่หากเตรียมระบบ HI เชื่อมต่อกับ โรงพยาบาลสนาม-โรงพยาบาลหลัก ไว้อย่างพรั่งพร้อม มั่นใจว่าจะรับมือได้


รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสัมพันธ์กับมาตรการล็อกดาวน์ที่สิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2564 ฉะนั้นหากตัวเลขในวันที่ 15-16 ก.ย. 2564 อยู่ในระดับใด ก็จะกลายเป็นตัวเลขของระลอกที่ 4 และจะทรงตัวไปถึงระลอก 5

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวอีกว่า เมื่อคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ตัวเลขก็จะมากดจำนวนผู้ติดเชื้อช่วงกลางเดือน ก.ย. หรือราว 2 สัปดาห์ถัดมา นั่นทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือประมาณวันที่ 15-20 ก.ย. 2564 จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะทรงตัวอยู่ในระดับใด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่เชื่อว่าหากเกิดการระบาดระลอก 5 จริง อาจจะไม่โกลาหลเหมือนระลอกที่ 4 ส่วนตัวคิดว่าการแยกรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation : HI) จะช่วยได้ เพราะเป็นการแยกผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ-อาการน้อย ให้ออกมาดูแลตัวเองที่บ้านได้ ซึ่งจะมีผู้ป่วยประมาณ 20% เท่านั้น ที่จะมีอาการหนักขึ้น คือเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง-แดง

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวว่า ภาครัฐต้องมอนิเตอร์ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่าจำนวนเท่าใดที่ระบบสาธารณสุขรับได้ ส่วนตัวเชื่อว่าตัวเลขอาจจะมีการขึ้นมาทดสอบที่ระดับ 2-2.5 หมื่นรายต่อวัน เช่นเดียวกับตัวเลขสูงสุดในระลอก 4 แต่ขณะนี้ใน 2-2.5 หมื่นราย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลสนาม-โรงพยาบาลหลักทั้งหมด เพราะมีระบบ HI เข้ามาช่วยดูแล หากเทียบเคียงว่ามี 20% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ต้องเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม-โรงพยาบาลหลัก ระบบก็น่าจะรับมือได้ไหว

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อไปว่า การปรับยุทธศาสตร์ในการให้ยาที่เร็วขึ้น เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือฟ้าทะลายโจร รวมถึงในระยะเวลาที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีเพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายแต่ก็มีเพิ่มขึ้นในปริมาณที่น่าพอใจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ปริมาณของผู้ป่วยที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลลดลงได้เช่นกัน

“ผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงพูดตรงกันว่า จากนี้ความสำคัญของตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ที่สำคัญกว่าคือความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของหน่วยบริการ เพราะถ้าโรงพยาบาลหลักไม่ล่ม ก็ยังจะดูแลอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ ตรงนี้ถือเป็นการวัดประสิทธิภาพในการรับมือ” รศ.นพ.พฤหัส กล่าวฃ

สำหรับโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ขณะนี้มีการปรับตัวและตระเตรียมความพร้อม โดยบทบาทของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ในปัจจุบันคือการรับเคสสีเหลืองมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่เป็นโรงพยาบาลหลักก็จะรับเคสสีแดงเป็นหลัก ส่วนเคสสีเขียวจะพยายามใช้วิธี HI ทั้งหมด

“เมื่อตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK)  แล้วพบผลบวก (ติดเชื้อ) ก็จะรับเข้าสู่ระบบ HI ทุกคน” รศ.นพ.พฤหัส กล่าว

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อไปว่า จากการคาดการณ์หลังเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าหลักสถิติแน่ชัดอยู่แล้วว่าน่าจะมีระลอก 5 เกิดขึ้น โดยน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่าระลอก 4 แต่เข้าใจว่าถ้าเราวางระบบ HI และเตรียมโรงพยาบาลหลัก-โรงพยาบาลสนามไว้พร้อม เราจะสามารถรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นได้ และจะไม่มีเรื่องของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น หรือการเสียชีวิตที่บ้าน

ในส่วนของโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 5 ในภาพรวมมีด้วยกัน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าในขณะนี้ยังคงอยู่ 2. การคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม 3. ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้ไม่ได้มุ่งหวังการป้องกันการติดเชื้อ แต่มุ่งหวังในการลดอัตราการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตได้