ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ออสเตรเลีย” เป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งระดับงานสาธารณสุขส่วนกลาง ไปจนถึงระดับงานบริการส่วนท้องถิ่น     

ตัวชี้วัดที่ทำให้ “ออสเตรเลีย” ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลก อาจวัดผลได้จากอายุขัยของคนที่อยู่ในประเทศ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 82.5 ปี

หลักการเบื้องต้นในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนนั้น ออสเตรเลียให้บริการประชาชนและผู้พำนักถาวรด้วยโครงการ “Medicare” ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจาก “Medicare levy” ซึ่งก็คือ 2% จากภาษีเงินได้ของประชาชนในออสเตรเลีย

กองทุนนี้ช่วยดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล และงานบริการสุขภาพอื่นๆ โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเสียน้อยที่สุด

ว่ากันแบบตรงไปตรงมา หลักใหญ่ใจความก็คล้ายคลึงกับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในไทย ที่มุ่งให้การดูแลสุขภาพและส่งเสริมป้องกันโรคด้วยเงินภาษีแบบ 100% หากแต่ในประเทศไทยเป็นการรักษาฟรี

Medicare นั้นจะใช้เงินกองทุนในการครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโดยทั่วไป ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะครอบคลุม 100% ในสถานบริการของรัฐ 85% ของการบริการเฉพาะทางเป็นพิเศษ และ 75% ของการเข้ารับบริการผ่านสถานบริการเอกชน

ส่วนต่างเหล่านี้ ก็สามารถใช้สิทธิอื่นๆ ครอบคลุมได้ เช่นประกันสุขภาพเอกชน หรือ สิทธิพิเศษของผู้มีรายได้น้อย ทหารผ่านศึก หรือประชากรที่เป็นชนพื้นเมือง

รัฐบาลออสเตรเลียมีแนวคิดว่า ทุกคนควรได้รับการดูแลและบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและในราคาที่เข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อว่า ผู้ที่สามารถจ่ายได้ก็มีสิทธิที่จะได้การดูแลที่มากกว่า

เรียกได้ว่า Medicare ของออสเตรเลียนั้น ถ้าไม่ “ฟรี” ไปเลย ก็จะพยายามทำให้ประชาชนนั้น จ่ายน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี ความยอดเยี่ยมของระบบประกันสุขภาพของออสเตรเลียก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะด้วยความถูกและการครอบคลุม ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องการใช้บริการ ทำให้เกิดปัญหา “คอขวด” ในระบบหลายต่อหลายครั้ง

นี่ยังไม่รวมถึงการที่ถ้าต้องได้รับการรักษาแบบพิเศษหรือเฉพาะทางที่ Medicare จะครอบคลุม 85% แต่ส่วนต่างที่เหลือนั้นก็ “ราคาแพง” ไม่น้อย

ประกันสุขภาพเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง แม้ว่าจะไม่ต้องรอนาน เลือกการรักษา เลือกแพทย์ เลือกเวลา ได้เอง

นี่คือหนึ่งในความท้าทายปัจจุบันของระบบสาธารณสุขออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่

นอกจากนี้ ความท้าทายในอนาคตของระบบสาธารณสุขออสเตรเลียยังมีอีก อาทิ เช่น ออสเตรเลียกำลังการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แม้ว่าอายุที่ยืนยาวนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่โรคภัยและการต้องเข้ารับการบริการด้านสุขภาพก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกันตามสัดส่วนประชากร

นั่นทำให้ปริมาณผู้คนที่ใช้บริการนั้นกำลังนำไปสู่สภาวะล้นระบบ ทั้งภาระการให้บริการและงบประมาณที่จะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย

ประสิทธิภาพของการให้บริการและรักษาก็เป็นความท้าทายเช่นเดียวกัน ด้วยการขยับของเทคโนโลยี ทั้งด้านวิธีการ เครื่องมือ ยา ทำให้ภาระของการครอบคลุมค่าใช้จ่ายนั้นสูงขึ้น และส่งผลถึงสุขภาพของประชาชนด้วยการที่กระบวนการรักษาบางประการ

การรักษาโดยเทคโนโลยีหรือวิธีใหม่ ตัวยาใหม่ Medicare นั้นไม่สามารถครอบคลุมได้เพียงพอ ทำให้ส่วนต่างราคาแพงนั้นกลายเป็นภาระของประชาชน

ความท้าทายทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ของออสเตรเลียก็กำลังสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ผลมาจากการขาดแคลนบุคลากร แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ และบุคลากรด้านอื่นๆ นั้นมีจำนวนลดลง

ปัจจุบันมีบุคลากรอยู่ในระบบเพียง 450,000 คนเท่านั้น และยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าบุคลากรทางการแพทย์มาจากนอกประเทศในสัดส่วน 25% ของบุคลากรทั้งหมด นี่จึงเป็นความท้าทายว่า ระบบสาธารณสุขออสเตรเลียจะมีศักยภาพ “เพียงพอ” ต่อการรองรับงานด้านสาธารณสุขหรือไม่ในอนาคต

ทั้งหมดนั้น นำมาสู่ปัญหาสำคัญที่สุดของระบบสาธารณสุขออสเตรเลีย นั่นก็คือ “งบประมาณ”

การใช้งบประมาณในการสนับสนุน Medicare นั้น กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มทำจะกำลังกลายเป็นภาระทางการคลังของออสเตรเลีย ในปีงบประมาณ 2001 – 2002 Medicare นั้นใช้งบประมาณไปราว ๆ 63,000 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ จากนั้นก็พุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัวในปีงบประมาณ 2006 -  2007 เป็น 115,000 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ

ในช่วงปี 2020-2021 รัฐบาลออสเตรเลียใช้งบกับ Medicare ไปทั้งหมด 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะขยับขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

ดังนั้นแล้ว รัฐบาลออสเตรเลียและระบบสาธารณสุขที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ และนี่ไม่ใช่เรื่องที่พึ่งจะเริ่มต้น แต่ความท้าทายทั้งหมดเหล่านี้ถูกพูดถึงมาแล้วเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา และยังไม่สามารถหาทางออกได้จนปัจจุบัน

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของออสเตรเลียกำลัง “แพง” ต่อรัฐ และเริ่ม “ขาดประสิทธิภาพ” มากขึ้น สวนทางกับปัญหาและความท้าทายในอนาคต

มาดูกันต่อไปว่า ออสเตรเลียในทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษใหม่จะสามารถเอาชนะความท้าทายครั้งนี้ได้หรือไม่

อ้างอิง