ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนทางในการต่อสู้กับโควิด-19 ของมนุษยชาติเต็มไปด้วยความหวังครั้งใหม่อีกครั้ง หลังจากที่มีการเผยแพร่งานวิจัยของ “ทีมวิศวกรรมนาโน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก้” ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่ ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม และเก็บรักษาง่ายกว่าเดิม

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Chemical Society ฉบับวันที่ 7 ก.ย. 2021 โดยเปิดเผยรายละเอียดของผลการทดลองวัคซีนตัวใหม่ที่ใช้ “เชื้อไวรัส” และ “แบคทีเรีย” ในพืชเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างวัคซีนขึ้นมา

แม้ว่าวัคซีนตัวใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นทดลองเบื้องต้นในชั้นของหนูทดลอง แต่ผลลัพธ์เบื้องต้นที่ค้นพบคือ วัคซีนตัวนี้สามารถเก็บรักษาได้ง่าย ไม่ต้องแช่ตู้เย็น มีความเป็นได้ที่จะสามารถเข้าถึงผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารได้ง่ายกว่าวัคซีนที่โลกมีอยู่ในปัจจุบัน

ศาตราจารย์นิโคล สไตน์เมทซ์ จาก UC San Diego Jacobs School of Engineering กล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นี้ก็คือ มันจะคงที่ด้านอุณหภูมิ ดังนั้นแล้ว มันจึงง่ายกว่าที่จะส่งวัคซีนไปในที่ๆ ไม่สามารถมีตู้เย็นหรือรถขนส่งรักษาอุณหภูมิเข้าถึงไม่ได้

ในรายละเอียดของวัคซีนนั้น ทีมวิจัยได้ทำการสร้างวัคซีนขึ้นมาจากฐานของไวรัสและแบคทีเรียในพืช โดยไวรัสในพืชนั้นคือเชื้อ “Cowpea Mosaic Virus” ส่วนแบคทีเรียในพืชนั้นคือ “Bacteriophage” หรือเรียกอีกชื่อได้ว่า “Q Beta” และจากนั้นก็นำไปผสมกับเชื้อ E.coli เพื่อขยายจำนวน เมื่อได้ตัวขยายจำนวนก็จะนำอนุภาคนาโนไปใช้เกาะติดกับเชื้อโควิด-19

หลังจากเกาะติดกับเชื้อโควิด-19 แล้ว ส่วนประกอบทั้งหมดจะรวมกันไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจำนวนมหาศาลขึ้นมา ทำให้ในอนาคต วัคซีนนี้มีความเป็นไปได้ในการที่จะสามารถป้องกันเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ เพราะเป็นการเข้าไปอยู่กับอนุภาคของไวรัสโควิด-19โดยตรง

ข้อน่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือ การพัฒนาพันธุ์ของพืชสำหรับทำวัคซีนยังมีการออกแบบให้สามารถนำไปปลูกและขยายพันธุ์ได้ง่าย ส่งผลต่อการมีวัตถุดิบเพื่อการผลิตวัคซีนอย่างไม่ขาดแคลน  

และด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่ค้นพบใหม่นี้ ทำให้ความเป็นไปได้ต่อการใช้วิธีการผลิตวัคซีนนี้สามารถนำไปใช้กับการสร้างวัคซีนป้องกันไวรัสตัวอื่นๆ ต่อไป

ทีมวิจัยและพัฒนา บอกว่า การพัฒนาวัคซีนนี้ยังต้องใช้เวลาอีกมากในการทดสอบ และยังคงต้องทดลองในเรื่องของการป้องกันการติดต่อ การทดลองให้มั่นใจในประสิทธิภาพ และการทดลองกับมนุษย์

จับตาดูกันต่อไปว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงการต่อสู้กับโควิด-19 และเชื้อโรคร้ายอื่นๆ ในอนาคตต่อไปได้หรือไม่

อ้างอิง

https://www.sciencedaily.com/releases/2021/09/210907085616.htm