ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการรายงานถึงเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์และระบาดในทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาใน 49 รัฐ เชื้อนี้เป็นที่รู้จักกันในนามโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Covid-19 Mu variant) หรือ “B.1.621”

จากรายงานของศูนย์ข้อมูลข่าวสารประจำภูมิภาคยุโรปตะวันตก สหประชาชาติ ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังจับตาดูเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จากทวีปอเมริกาใต้นี้อย่างใกล้ชิด หลังจากที่เริ่มพบการกลายพันธุ์ในโคลัมเบีย เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2021 และเริ่มแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

WHO ยังระบุอีกว่า แม้จะมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์มิวนี้เพียงแค่ 0.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกันทั่วโลก แต่สัดส่วนการติดเชื้อในโคลัมเบียและเอกวาดอร์นั้นมีมากถึง 39% และ 13% ตามลำดับ

นอกจากนี้ และจำนวนประเทศทั้งหมดที่กำลังมีสายพันธุ์มิวระบาดนั้น ก็นับได้ถึง 39 ประเทศ อาทิ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร

จากการเฝ้าติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์มาตั้งแต่มีนาคม 2020 เชื้อ “มิว” มีแนวโน้มที่จะต่อต้านวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการต่อต้านวัคซีนคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ “เบต้า” ที่ระบาดในอัฟริกาใต้ หนำซ้ำยังมีลักษณะการแพร่กระจายแบบสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่กลายพันธุ์ในประเทศอินเดีย

WHO ยังเปิดเผยใน Weekly epidemiological update on COVID-19 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2021 ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์มิวมีความเป็นไปได้ถึงการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงของสายพันธุ์มิว ว่าจะอันตรายมากน้อยอย่างไร

แต่กระนั้น จากผลการศึกษาของนักระบาดวิทยาก็ให้ข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันเชื้อสายพันธุ์มิวนั้นยังไม่น่ากังวลเท่ากับเดลต้าที่ระบาดหนัก แม้ว่าเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่มิวจะสามารถต่อต้านวัคซีน mRNA เมื่อเทียบเคียงกับเบต้า แต่ mRNA ก็ยังมีประสิทธิภาพกว่า 77% ในการต่อต้านเบต้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา ดร.แอนโธนี่ เฟาชี ให้ความเห็นว่า แม้ว่ามิวจะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ แต่ในเวลานี้ มิวยังไม่ใช่ภัยคุกคามที่อันตรายเท่ากับที่เดลต้าเป็นอยู่

สอดคล้องกับรัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศส ก็ได้ให้ความเห็นว่า มิวยังไม่ได้ “แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว” มากจนต้องกังวล

แต่ความน่ากังวลของมิวคือ การที่มิวมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถ “ผสมข้ามสายพันธุ์” ได้ง่ายกว่าเชื้ออื่นๆ ที่ระบาดอยู่ และอาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงต่อร่างกายได้มากกว่าที่เคยพบเจอ

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานถึงการเข้ามาถึงของเชื้อใหม่นี้แต่อย่างใด โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เชื้อสายพันธุ์มิวนั้นยังไม่พบในประเทศไทย และยังไม่มีรายงานด้านความสามารถในการแพร่ระบาด

ดังนั้นจึงฝากถึงประชาชน อย่าตื่นตระหนก โดย สธ.จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ความน่ากังวลของมิวทั้งในไทยและระดับโลกนั้น แม้ว่าจะยังไม่น่าห่วงเท่าใดนัก แต่การเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะละเลยได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับอัลฟ่าและเดลต้า

มาตรการจากหน่วยงานสาธารณะสุขต่างๆ ควรจะเริ่มให้ความสนใจและเตรียมการรับมือเอาไว้ไม่ให้ลุกลามจนยากที่จะควบคุม ทั้งความพร้อมด้านวัคซีนและการรองรับผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและมหาศาล รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนก็จะต้อง “อัพเกรด” ตามไปด้วยก่อนที่จะสายเกินไป

อ้างอิง
https://indianexpress.com/article/explained/explained-mu-variant-covid-19-interest-7499224/
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2177531/dont-panic-about-mu-variant-ministry-of-public-health-says
https://apnews.com/article/lifestyle-health-europe-united-states-coronavirus-pandemic-9bc7b53dc5c119ddcfe7e124ae329ed4
https://www.kxan.com/news/national-news/mu-variant-of-covid-19-detected-in-49-states/
https://www.who.int/publications/m/item/weekly-epidemiological-update-on-covid-19---31-august-2021
https://unric.org/en/covid-19-what-is-the-mu-variant/