ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มศว. ปลื้ม หมอฟันมีส่วนช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระบบ Home Isolation


ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ประธานอนุกรรมการบริหารและพัฒนาองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) เปิดเผยว่า เดือนที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก หน่วยบริการรับผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation ไม่หมด ส่งผลให้มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก กลุ่มทันตบุคลากรภายใต้ชื่อเครือข่ายทันตบุคลากรสู้ภัยโควิด ซึ่งประกอบด้วยทันตแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์จากเครือข่ายต่างๆ  เช่น ทันตแพทย์สมาคมฯ สมาพันธ์ทันตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รวมถึง อ.บ.ท.ท. ได้ร่วมมือกับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ในการเข้าไปช่วยดูแลคัดกรอง ติดตามอาการผู้ป่วยระหว่างอยู่ใน Home Isolation ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ทันตบุคลากรรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพในการดูแลพี่น้องประชาชน

ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าวว่า ที่มาของเรื่องนี้เกิดจากได้รับประสานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มายังเครือข่ายทันตแพทย์จิตอาสา D-Volunteer ว่าพื้นที่ กทม.กำลังมีปัญหา เนื่องจากในช่วงต้นๆ ของการเริ่มระบบ Home Isolation นั้นมีกำลังคนไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจากการเข้าไปดูข้อมูลใน Dash Board ของ กทม.แล้ว เห็นรายชื่อหน่วยบริการก็รู้สึกแปลกใจว่ามีโรงพยาบาลสิชลซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาลใน กทม. แสดงว่าปัญหานี้ใหญ่กว่าที่คิด รวมทั้งได้รับทราบจากพี่ๆ น้องๆ ทันตบุคลากรที่ทำงานกับกลุ่มจิตอาสาว่ายังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแล

ทั้งนี้ จึงได้เสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม อ.บ.ท.ท. ซึ่งต้องขอบพระคุณท่านประธานองค์กร ผศ.นฤมนัส คอวนิช ที่เห็นความสำคัญ จากนั้นจึงได้เริ่ม Recruit กำลังคนทั้งนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ อาจารย์ และกลุ่มน้องๆ ที่จบออกมาเป็นหมอฟันแล้ว เพื่อเป็นกำลังเสริมแก่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โดยเข้ารับการเทรนบทเรียนจากแพทย์ก่อนว่ามี Flow chart อย่างไรแล้วเข้าไปช่วยเสริมการทำงานในส่วนที่ยังขาดกำลังคน

ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าวว่า ทันตแพทย์เข้าไปทำหน้าที่ในเกือบทุกอย่างในระบบ ยกเว้นเรื่องการสั่งยาที่ยังเป็นหน้าที่ของแพทย์ ซึ่งในระบบที่ Set up มา ทันตแพทย์สามารถทำได้ ถ้าได้เรียนรู้ โดยงานที่เข้าไปช่วยก็จะมี 2-3 ส่วนคืองาน Triage จัดให้เข้าสู่ระบบ โดยจะโทรติดต่อคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบเพื่อสอบถามอาการและจัดให้เข้าสู่ระบบ อีกส่วนคือการดูแลเคสผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจนครบ 14 วัน คอยโทรสอบถามอาการ สอบถามว่าได้รับยาหรืออาหารหรือยัง รวมทั้งคอยพูดคุยเพื่อลดความตื่นตระหนกของคนไข้

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังเมื่อเชี่ยวชาญมากขึ้น แพทย์ก็เริ่มไว้ใจและจ่ายเคสสีเหลืองให้ดูแลบ้าง รวมๆ แล้วใน 1 เดือนที่ผ่านมาทันตแพทย์ช่วยดูแลผู้ป่วยไปได้ประมาณ 2,700 คน นอกจากนี้ก็ยังมีอีกส่วนที่เข้าไปช่วยหน้างานที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเลยเพื่อคอยจัดการเรื่องต่างๆ เช่น นำอุปกรณ์ถุงยังชีพ ไปให้ผู้ป่วยที่บ้าน เป็นต้น

ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าวอีกว่า หลังจากเข้าไปช่วยเสริมการทำงานของศูนย์บริการสาธารณสุขในช่วงเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ระบบต่างสามารถดำเนินงานไปได้ดีขึ้น บุคลากรเริ่มคุ้นเคยกับการทำงาน กลุ่มทันตแพทย์จึงได้เริ่มถอนตัวออกมา ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ สิ่งที่ภูมิใจไม่ใช่จำนวนผู้ป่วยที่สามารถดูแลได้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์การทำงานกับบุคลากรทางสุขภาพข้างเคียงทั้งในด้านการบริหารจัดการ การทำงานเป็นทีม และการทำงานเชิงสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นโอกาสแสดงบทบาทของทันตแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าหมอฟันสามารถเป็นวิชาชีพที่อยู่เคียงข้างวิชาชีพอื่นๆในภาวะวิกฤติได้

"การระบาดในช่วงปีก่อน หลายคนมองว่าพอมีโควิด-19 ปุ๊ป หมอฟันปิดร้าน ปิดห้องฟัน ทำให้รู้สึกว่าที่ยืนในระบบสาธารณสุขของเรามีน้อยมาก แต่ปีนี้เห็นเรากลุ่มหมอฟันที่ไปช่วย SWAP ช่วยฉีดวัคซีน ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 นี่คือสิ่งที่งดงามมากว่า ทันตแพทย์สามารถ Contribute อะไรได้ มันพิสูจน์ว่ามีหลายอย่างที่เราเข้าไป fit in ในระบบได้ ต่อไปเมื่อมีวิกฤติอื่น หมอฟันก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพที่เป็นความหวังได้" ผศ.ทพ.ดร.ณัฐวุธ กล่าว