ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผมเป็นโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังครับพี่”

‘ต่อ’ หนุ่มวัย 24 ปี ที่พึ่งเริ่มทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนเล่าให้ผมฟัง หลังจากผมเฝ้าติดตาม social media ของเขา และก็ตัดสินใจถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง

ผมรู้จักกับ ‘ต่อ’ ได้หลายปีแล้วเหมือนกัน ต่อเป็นคนน่ารัก สนุกสนาน เรามีความสนใจบางอย่างตรงกัน เลยได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้วก็พูดคุยแลกเปลี่ยน พบปะสังสรรค์กันเรื่อยมาตามโอกาสต่างๆ

จากสายตาของผมแล้ว แทบไม่มีทางจะคิดได้เลยว่า ‘ต่อ’ จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือ Persistent depressive disorder (dysthymia หรือ dysthymic disorder) เป็นหนึ่งในสามกลุ่มใหญ่ของอาการซึมเศร้าที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับความเครียด ความกดดัน ทั้งการเมือง สังคม และวิถีชีวิต

“เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม มันเป็นยังไง” ผมถาม

“อาการของผมเหมือนกำลังนั่งอยู่ในห้องสีดำตลอดเวลา หมอบอกว่าผมเป็นโรคที่เรียกว่า Dysthymia”

‘ต่อ’ อธิบายว่า “เหมือนแค่อยากให้เวลามันผ่านไปเรื่อยๆ ไม่มีความสุข คิดมาก คิดวนซ้ำย้ำๆ ยิ่งมีอะไรให้รู้สึกแย่ก็ยิ่งคิดซ้ำย้ำๆ ผมเคยถึงขั้นทำร้ายตัวเองจนสลบ นอนไม่หลับ หลับไม่เป็นเวลา บางครั้งอยู่เฉย ๆ ก็ร้องไห้ ร้องไห้เป็นชั่วโมง ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น ขับรถอยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้”

ว่ากันตามตรง จากคำอธิบายทางการแพทย์ โรคซึมเศร้าเรื้อรังที่ ‘ต่อ’ กำลังเผชิญ มีอาการ “เบา” กว่าภาวะซึมเศร้าทั่วไป แต่สิ่งที่แย่กว่านั้นคือ ความเรื้อรังของมันที่อาจจะเกาะกินสภาพจิตใจของผู้ป่วยไปได้นานถึง 2 ปี แม้จะเข้าทำการรักษาอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม

‘ต่อ’ อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมคนร่าเริงอย่างเขาต้องป่วย แต่ก็เป็นการเล่าอย่างไม่เจาะจงเท่าใดนักว่า “สาเหตุหลักก็พูดได้ยากหลายๆ ปัจจัยรวมๆ กันเลยครับพี่ นิสัยส่วนตัว สังคมรอบตัว มีผลหมด”

ผมจึงถามต่อไปว่า แล้วเขารู้ตัวได้ยังว่าตัวเอง “มีปัญหา”

“เราอยากใช้ชีวิต แล้วเรารู้ว่าเราไม่สามารถทำได้แน่ถ้ายังเป็นแบบนี้ เลยตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์ ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการรักษา 4 เดือนแล้วครับ การรักษาหลัก ๆ จะมีอยู่ 2 ทาง กินยา และ จิตบำบัด

“ผมเลือกที่จะใช้วิธีกินยา แต่ค่ายานี่แพงทะลุโลกเลยนะพี่”

เมื่อผมถามว่าเท่าไหร่ ต่อบอกว่า “ผมรักษาโรงพยายาบาลเอกชนนะครับ ค่ายาเดือนๆ นึงก็น่าจะราวๆ 14,000 บาท”

หลังจากผมหายตะลึงกับค่าใช้จ่ายเพื่อรักษา “ใจ” ของต่อแล้ว ผมจึงต่อบทสนทนาไปว่า โรคที่เจออยู่ มันส่งผลอย่างไรบ้างกับเขา

“ตอบได้ยากอยู่นะพี่ เพราะผู้ป่วยทางจิตแพทย์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเริ่มมีอาการตอนไหน การที่เราจะรู้ว่าเราผิดปกติต้องพบจิตแพทย์เท่านั้น จึงบอกได้ยากว่ามันมีผลในชีวิตหลังจากที่เริ่มมีอาการอย่างไร แต่ก็อย่างที่ผมบอกไปแต่แรกแหละ มันไม่มีความสุขเลย มันไม่รู้จะทำยังไงให้มีความสุข แล้วพอยิ่งคิด ก็ยิ่งไปกันใหญ่”

แน่นอน จากข่าวบนหน้าสื่อต่าง ๆ ณ เวลาปัจจุบันของประเทศไทย อาการซึมเศร้ากลุ่มต่าง ๆ ก็เริ่มมีแนวโน้มมาจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งความโดดเดี่ยวที่ออกไปไหนไม่ได้ หน้าที่การงานของหลายคนที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป รายได้หดหาย ความหดหู่ นี่ยังรวมถึงผู้คนที่กำลังต่อสู้กับโรคเหล่านี้อยู่แล้วก็ต้องเผชิญเหตุเหล่านี้เช่นกัน

ผมถามต่อไปว่า โควิด-19 มีผลกับต่อหรือไม่ เจ้าตัวบอกว่ามันไม่ได้มีผลมากมายอะไรนักกับจุดเริ่มต้นของอาการ

“ส่วนตัวผมว่าแทบจะไม่มีนะ กลับกลายเป็นว่าผมได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะไปไหนไม่ได้ และก็ไม่ต้องเจออะไรข้างนอกมากนัก มีเวลากับตัวเองมากขึ้นได้ดูแลสุขภาพจากการออกกำลังกายมากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดี ๆ เรื่องนึงถึงจะต้องแลกด้วยกับอะไรหลายสิ่งนะครับ”

ถ้างั้นอะไรคือความสุขของ ‘ต่อ’ ในช่วงนี้ละ ผมถาม

ต่อจึงเอา Status บน Facebook ของเขาให้ดู ซึ่งมันก็มีใจความหลักๆ ว่า “นี่แหละความสุข ความสุขจริง ๆ สุขมาก หลังจากกินยามา 2 เดือน ออกกำลังกายหนัก ๆ แล้วได้อาบน้ำ กินยา นอนเปิดไฟสีๆ เปิดแอร์เย็น ๆ นั่งเล่นบนเตียง นี่แหละความสุข”

ผมก็เข้าใจต่อได้ทันที เพราะสิ่งที่ต่อว่ามา อันที่จริงแล้วมันไม่ได้แปลกประหลาดอะไรเลย ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปมองว่าทำแล้วจะได้มีความสุขสักเท่าไหร่ด้วยซ้ำ แต่กลับกันกับสิ่งที่ต่อเผชิญ การทำอะไรพวกนี้แล้วไม่ทุกข์ ไม่เครียด ไม่เศร้า นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

สำหรับผู้ที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้านั้น การนอนมองไฟสีๆ ที่เปิดสะท้อนรอบห้องโดยที่ไม่มีความทุกข์ในหัวเลยมันน่าจะต้องมีความสุขมาก ๆ จริง ๆ

“เรื่องเล่านี้สามารถเอาไปบอกเล่าให้กับผู้คนต่อไปได้ไหม” ผมถาม ‘ต่อ’ ตอบว่ายินดี ผมจึงขอให้ต่อฝากอะไรหน่อยได้ไหม อยากบอกอะไรกับทุกคนที่กำลังจะมีปัญหา หรือมีปัญหาอยู่ ‘ต่อ’ จึงฝากถึงทุกคนสั้น ๆ

อยากบอกอะไรกับคนที่กำลังมีปัญหาหรอ อือ อยากให้เปิดใจเข้ารับการรักษา คนที่พบจิตแพทย์ไม่ใช่คนบ้าแต่คือคนป่วย ไม่มีอะไรต้องกังวล พยายามหาความสุขให้เจอ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เข้าใจว่าหายาก แต่สู้นะ หาคนรับฟังให้ได้ แล้วจะผ่านไปได้

ต่อยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า อยากจะบอกว่า ผู้ป่วยอยากเป็นคนธรรมดา ไม่ได้ต้องการกำลังใจ แต่ต้องการผู้รับฟังอย่าจริงใจ”

ชายหนุ่มผู้นี้ยังไม่ชนะโรคซึมเศร้าเรื้อรังนี่หรอก แต่เขามีความหวัง และผมเชื่อว่าเขาจะ “รักษาใจ” ให้ดีกว่าเดิมได้แน่นอน

หมายเหตุ : ทุกวันนี้การวินิจฉัยและรักษาโรคซึมเศร้า เป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่บรรจุอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้ง 3 ระบบ อันได้แก่ ระบบหลักประกันสุภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการบริการฟรีได้