ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เข้าถึงวัคซีน ซึ่งถึงแม้ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะออกประกาศบอร์ด สปสช. กำหนดเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เกิน 4 แสนบาท แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ และมีการจ่ายจริงไปหลายเคสแล้ว

หากแต่ในรายละเอียดการดำเนินการ ยังพบข้อจำกัด-อุปสรรคที่นำไปสู่ความอึดอัดใจของผู้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และญาติ

The Coverage ได้พูดคุยกับ รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะนักวิชาการผู้ผลักดันรัฐสวัดิการ และในฐานะ “ผู้ได้รับผลกระทบ” จากการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จากกรณีที่มารดาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น

อาจารย์ษัษฐรัมย์ ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจาก สปสช. แต่ถูกปฏิเสธ ก่อนท้ายที่สุดได้รับการติดต่อกลับมาว่า จะมีการอนุมัติช่วยเหลือในภายหลัง

รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 มารดาได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกของ “แอสตร้าเซเนก้า” ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยมารดานั้นมีโรคประจำตัวคือเบาหวาน ความดัน รวมถึงมีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง

หลังการฉีดในช่วงแรก มารดามีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ขยับตัวได้ไม่ดี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลจากอาการข้างเคียงตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ กลับสังเกตได้ว่ามารดาอาการไม่ดีขึ้น และการขยับตัวต่างๆ ก็แย่ลงจนไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง จึงได้เข้ารับการตรวจซีทีสแกนในสมอง ช่วงเดือน ก.ค. 2564 ผลปรากฏว่าพบร่องรอยของเส้นเลือดตีบในสมองรอยใหม่ ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่าสามารถเป็นรอยใหม่ที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ได้

รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ เล่าต่อว่า ภายหลังทราบผล จึงเข้าสู่กระบวนการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจาก สปสช. โดยกรอกแบบฟอร์ม พร้อมรวบรวมใบรับรองแพทย์และหลักฐานต่างๆ ส่งทางไปรษณีย์ และพยายามติดตามความคืบหน้า

กระทั่งวันที่ 26 ส.ค. 2564 ได้รับจดหมายแจ้งผลการวินิจฉัยคำร้องว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาฯ ลงความเห็นว่าเป็นไปตามพยาธิสภาพของโรค และไม่เข้าเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ

"แม้อาการของแม่จะไม่ได้รุนแรงขนาดเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกหรืออะไร แต่ลักษณะที่ไม่สามารถขยับได้โดยสะดวก จากปกติที่สามารถใช้ชีวิตเองได้ กลายเป็นออกจากบ้านต้องใช้วีลแชร์ อาการที่กำเริบจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันนี้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช.ประกาศ ว่าจะให้การเยียวยา" รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ระบุ

รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่บอกเล่าเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำให้วันรุ่งขึ้นมีเจ้าหน้าที่ สปสช. ติดต่อกลับเพื่อให้นำส่งเอกสารยื่นอุทธรณ์การพิจารณา และต่อมาก็ได้แจ้งผลสรุปว่าจะมีการเยียวยาให้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง

เชื่อว่าหากไม่ได้ออกมาส่งเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ก็คงจะไม่มีทางได้รับการติดต่อกลับมาและอนุมัติให้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่าระบบปกตินั้นใช้งานไม่ได้

รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ วิพากษ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีผลกระทบทั้งกับการใช้ชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ป่วย แม้จะมีหลักการจ่ายเงินเยียวยาเอาไว้ แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นจริงกลับเห็นได้ว่าอยู่บนฐานที่ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า ไม่ได้คิดถึงว่าเป็นสิทธิของประชาชน วิธีการที่ปรากฏออกมาจึงเป็นเช่นนี้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เป็นระบบราชการมากๆ ทั้งการต้องเขียนจดหมาย แนบเอกสารต่างๆ ส่งทางไปรษณีย์ หรือการที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องมีรอบของการพิจารณา ซึ่งกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและยาวนานนี้จึงกลายเป็นปัญหาให้กับประชาชน และไม่สอดคล้องกับแนวคิดของการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ที่จะต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาโดยเร็วที่สุด

"ปัญหาอยู่ที่วิธีการคิด ที่ไปมองว่าประชาชนจ้องที่จะเอาสวัสดิการ จ้องที่จะเอาเงินเยียวยา ซึ่งต้องบอกว่าต่อให้คนที่ลำบากกว่านี้หรือได้เงินเยอะกว่านี้ ถ้าต้องแลกกับการเดินไม่ได้ หรือต้องอยู่บนวีลแชร์ไปตลอดชีวิต เงินเป็นแสนเป็นล้านก็คงไม่มีใครที่คิดจะเอา ย้ำเลยว่าเงินเยียวยาตรงนี้ก็ไม่ได้เยอะ ยังไม่นับรวมปัญหาการเข้าถึง การใช้ดุลพินิจพิพากษาออกมาแบบนี้ ซึ่งคิดว่าระยะยาวจะเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะขอเงินเยียวยา" รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ระบุ

นักวิชาการรายนี้ ยังกล่าวอีกว่า หากกระบวนการเยียวยากลายเป็นปัญหา เชื่อว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อไปคือผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะลังเลมากกับการเข้ารับวัคซีน ดังนั้นหาก สปสช.ต้องการกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เข้ามาฉีดวัคซีนกันมากขึ้นและหมดความกังวล จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่การจับผิดประชาชนว่าพูดจริงหรือโกหก

“เช่นถ้าเป็นผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว ก็บอกไปเลยว่าถ้ามีอาการเหล่านี้กำเริบขึ้นภายใน 14 วัน จะมีมาตรการเยียวยาให้เบื้องต้นเท่าไรก็ว่าไป พอเขาไปฉีดแล้วมีอาการเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น คุณก็ต้องเยียวยาให้เขาไปเลย แล้วไม่ต้องมาพิสูจน์ทราบด้วยกระบวนการที่ยุ่งยาก ทำทุกอย่างให้มันเสร็จได้ภายใน 1 สัปดาห์ โอนเงินเข้าเพื่อให้เขาไปวางแผนการใช้ชีวิตอะไรต่างๆ ได้” รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ เสนอ

รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ เน้นย้ำหลักการว่า ในเมื่อชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ฉะนั้นด้านหนึ่งก็ต้องวางอยู่บนฐานความเชื่อใจ ถ้าหลักฐานครบก็ต้องกำหนดไปเลยว่าจะเยียวยาเบื้องต้นให้เป็นค่าพักฟื้น ค่าชดเชยอะไรต่างๆ บ้าง อาจไม่ต้องเยอะ แต่ให้เป็นการเยียวยาเบื้องต้นตามที่ สปสช.มักจะโฆษณาอยู่เสมอว่าเปิดให้คนยื่นขอเข้ามา และถ้าได้ไปแล้วก็ไม่เรียกคืนอะไรต่างๆ

"อย่าให้กระบวนการที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นระบบแบบนี้ ที่ขนาดผมเป็นอาจารย์ยังคิดว่ากระบวนการนี้ยุ่งยากกว่าการเคลมประกันเอกชน หรือขอผ่อนผันเงินกู้ธนาคารเสียอีก แล้วที่ขนาดคนมีโรคประจำตัว เจอผลข้างเคียงขนาดนี้ยังปฏิเสธ แล้วแบบนี้ใครถึงจะสามารถไปขอเงินเยียวยาได้ ชัดเจนว่าระบบนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นมิตรกับคน เหมือนมีไว้เฉยๆ ให้มันตรงตามตัวชี้วัดของหน่วยงานหรือเปล่า" รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ระบุ