ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บรรยากาศความคึกคักตามร้านอาหารในหลายๆ พื้นที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งร้านชาบู-หมูกระทะ ที่ทุกคนคิดถึง หรือร้านบรรยากาศดีๆ ก็เริ่มเนืองแน่น ภายหลังรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีคำสั่งผ่อนปรนมาตรการเข้ม “คลายล็อคดาวน์” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564

คำสั่งดังกล่าว มีผลให้ร้านอาหารในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม กลับมาเปิดให้คนทั่วไปสามารถรับประทานที่ร้านได้

ไม่เพียงแต่ร้านอาหารที่ทุกคนคิดถึง หากแต่คำสั่ง ศบค.ยังคงรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการในกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น สถานเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านนวด ฯลฯ แต่ทั้งหมดยังต้องคงไว้ซึ่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด

นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นมา หลายพื้นที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งผู้ประกอบการหรือแรงงานต่างเตรียมตัวนับหนึ่งกันใหม่ รายได้ที่เคยซบเซาก็ชุ่มชื่นด้วยความหวังอีกครั้ง ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ผ่อนคลายความเครียดความกดดันลง เพราะสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้บ้างแล้ว

แน่นอนว่า แม้จะมีมาตรการมาบังคับบ้างแต่ก็ยังดีกว่าเหี่ยวเฉา ที่สำคัญคือเศรษฐกิจกำลังจะได้รับการขับเคลื่อนอีกครั้ง

แต่กระนั้นเอง สิ่งที่เราต่างรู้กันอยู่เต็มอกก็คือไวรัสโควิด-19 ยังไม่ได้หายไปไหน และนำไปสู่คำถามตัวโตว่า เราพร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

ฉากต่อไปของการบริหารสถานการณ์โดยรัฐนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการรับมือการระบาดหรือไม่ ?

หากพิจารณาจากตัวเลข ณ วันที่ 4 ก.ย. 2564 ยังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงในระดับหลักหมื่นราย แม้ว่าสถิติรายวันจะลดลงบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อุ่นใจไปได้ มากไปกว่านั้นหากย้อนหลังไปไม่กี่วัน ก็จะพบว่าตัวเลขยังคงปริ่มๆ อยู่ที่ 2 หมื่นราย

ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดในระลอก 4 จนถึงขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อเกือบแตะ 4,000 ราย หรือจังหวัดประชากรหนาแน่นข้างเคียงอย่างสมุทรปราการ ก็ติดกันอยู่ในหลัก 1,500 ราย นี่ยังไม่ได้พูดถึงตัวเลขเสียชีวิตที่ลอยไปลอยมาในหลักร้อยอยู่ร่วมเดือนสองเดือนแล้ว

ตัวเลขเหล่านี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การตรวจคัดกรอง” ที่ยังมีข้อจำกัด ซึ่งในไม่ช้านี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเริ่มแจกชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชิ้น แก่กลุ่มเสี่ยง

แน่นอนเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อตรวจมาก ตัวเลขก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี จะไปมองยอดตัวเลขติดเชื้ออย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ ก็อาจจะต้องหันมาพิจารณาจำนวนประชาชนที่ได้รับเกราะป้องกันอย่างวัคซีนโควิด-19 ด้วยว่า จำนวนประชากรที่ได้วัคซีนนั้นมีมากมายขนาดไหน

จากรายงานของภาครัฐ ประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก (รวมทุกยี่ห้อ) ไปแล้วราวๆ 37.1% และเข็มที่สอง (รวมทุกยี่ห้อ) ไปเพียง 13.8% เท่านั้น คิดเป็นโดสรวมสองเข็มก็ประมาณ 34 ล้านโดส

หากลงลึกในรายละเอียด ว่ากันเฉพาะใน กทม. อย่างเดียว พบว่ามีการฉีดเข็มแรกไปแล้วกว่า 7 ล้านโดส หรือเป็น 92% ประชากร

ทว่า ข้อพึงระวังของตัวเลขเหล่านี้ก็คือ เราไม่อาจทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขวัคซีนของประชากรกลุ่มไหนบ้าง เช่น เป็นประชากรในภาคบริการเท่าใด เป็นประชากรในภาคอุตสาหกรรมเท่าไหร่ หรือเป็นประชากรทั่วไปเท่าไหร่

นี่ยังต้องพึงสังเกตด้วยว่า กทม. ในฐานะเมืองหลวงที่เต็มไปด้วย “ประชากรแฝง” และมีการเคลื่อนย้ายประชากรไป-มา อยู่ตลอดเวลา จะมีผลทำให้สัดส่วนประชากร กทม. ที่ได้รับฉีดวัคซีนจริงๆ เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 เฟสบุ๊คโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ได้พยากรณ์ไว้ว่า ภายในเดือน ต.ค. ไปจนถึงสิ้นปี ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับการระบาดระลอก 5 ท่ามกลางสถานการณ์ของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์

ความคลุมเครือของระบบข้อมูลย่อมส่งผลต่อการควบคุมและป้องกันโรค ข้อเท็จจริงก็คือเราผ่านการระบาดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ระลอก โดยแต่ละระลอกก็มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างที่เป็นบริบทเฉพาะตัว นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีประสบการณ์อยู่ไม่น้อย

ยังไม่นับจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีระบบสาธารณสุขมูลฐาน-หน่วยบริการหลายระดับที่กระจายตัวอยู่อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ ทว่าการรับมือกับโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กลับยังเป็นไปในลักษณะ “ทำไป-แก้ไป” และส่วนใหญ่เป็นการ “วิ่งไล่ตาม” สถานการณ์มากกว่า

เสียงเตือนถึงการระบาดระลอก 5 ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย แต่เมื่อหันกลับมาพิจารณาความพร้อมจากการระบาดในระลอกปัจจุบัน ทั้งความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ ขีดความสามารถของระบบบริการ ความชัดเจนทางนโยบาย ฯลฯ แม้ว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างถึงที่สุด หากแต่ทุกวันนี้ยังมีข่าวประชาชนเสียชีวิตที่บ้าน ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา เตียงเต็ม

ความพร้อมทั้งหมดนี้ พอจะฉายภาพเค้าลางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี