ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยการรอเตียงโควิด-19 สีเหลือง-สีแดง ใน กทม. ลดลง เป็นผลจากการนำผู้ป่วยเข้าระบบ HI-CI ล่าสุดเตรียมประเมินคุณภาพมาตรฐานการดูแล HI นำร่องใน รพ.ราชวิถี-เลิดสิน-นพรัตนราชธานี


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ผลจากการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI) และการแยกกักที่ชุมชนหรือศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) ทำให้โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงมากขึ้น โดยมีระยะเวลารอเตียงไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนถึงวันที่ 25 ส.ค. 2564 มีผู้ป่วยที่เข้าระบบ HI ใน กทม.สะสม 87,023 คน โดยมีสถานพยาบาลทุกสังกัด และคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกอื่นๆ ร่วมดูแล ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม. ที่มีประมาณ 4,000 คนต่อวัน จะเข้าระบบ HI ประมาณ 1,000 คนต่อวัน

ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถมารถเข้าระบบ HI ได้ จะมีการดูแลแบบ CI โดยแยกกักในชุมชนหรือที่ศูนย์พักคอยใน กทม. ซึ่งมีจำนวน 64 แห่ง รวม 8,694 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200-300 คนต่อวัน โดยขณะนี้มีการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระบบ 3,410 คน รวมสะสม 15,749 คน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ที่ติดเชื้อหายป่วยมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งอัตราการครองเตียงในต่างจังหวัดยังตึงตัวอยู่บ้าง แต่มีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลชุมชนจึงพบปัญหาไม่มาก ส่วนใน กทม.เตียงรองรับผู้ป่วยยังไม่เพียงพอ แต่ได้ปรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อด้วยระบบ HI มากขึ้น

สำหรับมาตรฐานการดูแล HI กรมการแพทย์ จะร่วมกับ สปสช. และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ทำการประเมินคุณภาพทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ โดยนำร่องใน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ก่อนจะประเมินให้ครบทุกเครือข่ายต่อไป

นอกจากนี้ ในผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการทางกาย ทางจิต หรือเด็ก ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจัดการดูแลโดยเฉพาะ เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ดูแลผู้มีปัญหาทางจิตเวช โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ดูแลกลุ่มคนพิการ และสถาบันราชานุกูล ดูแลเด็กพิเศษและครอบครัว

ขณะเดียวกันยังมีระบบ HI ของสถาบันสิรินธรเพื่อคนพิการ CI ของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ และ CI สำหรับเด็กอายุ 7-15 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เกียกกาย โดยสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับเขตดุสิต

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่จะเข้าระบบ HI ได้นั้น ต้องปฏิบัติตามแนวทาง 7 แยก คือ แยกนอนในห้องหรือนอนห่างจากผู้อื่น แยกกินอาหารคนเดียว แยกอยู่ในพื้นที่เฉพาะ แยกใช้ของใช้ส่วนตัว แยกทิ้งขยะ แยกห้องน้ำหรือใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และแยกอากาศคือสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ในส่วนของ สปสช.จะจัดส่งชุดมาตรฐาน (Standard Set) ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด หน้ากากอนามัย ถุงขยะสีแดง และอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน ส่วนยาที่จ่ายให้ขึ้นอยู่กับอาการ มีการติดตามอาการด้วยระบบเทเลเมดิซีน 2 ครั้งต่อวัน