ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เนื่องในวันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 19 ส.ค. ของทุกปี The Partnership for Maternal, Newborn & Child Health (PMNCH) ซึ่งเป็นเครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้และนโยบายด้านสุขภาพแม่และเด็ก ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่บทความผ่านวารสารการแพทย์ “เดอะแลนซิต” (The Lancet)

บทความดังกล่าว ระบุว่า คนทำงานด้านมนุษยธรรม รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ยังคงเผชิญกับภัยคุกคามที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย หรือมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

หนึ่งในภัยคุกคามสำคัญ คือโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสร้างความเหนื่อยล้าและคร่าชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก

ยังคงมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานตรงด่านหน้าแต่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในประเทศกำลังพัฒนา ณ วันที่ 11 ส.ค. 2564 มีประชากรเพียง 1.6% ของประเทศรายได้น้อย ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม

นอกจากนี้ โรคระบาดยังทำให้ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นแบบฉับพลัน ในปี 2564 มีคนต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 33 คน จากสัดส่วน 1 ต่อ 45 คนในปีก่อนหน้านี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา  

กว่า 50% ของประเทศทั่วโลกต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อจัดการกับโรคระบาด ประเทศเหล่านี้ส่วนมากก็มีปัญหาเรื้อรังอื่น เช่น ประเทศเยเมน ที่เดิมก็มีสงครามการเมือง ภัยแล้ง และอหิวาตกโรคระบาด

สะท้อนว่าบริบทของการให้ช่วยความเหลือด้านมนุษยธรรมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เพราะเกี่ยวพันกับปัจจัยทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คนทำงานด้านมนุษยธรรมต้องเจอกับความเสี่ยงรอบด้าน เช่น ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ซึ่งเกิดสงครามการเมืองตั้งแต่ปี 2556 บุคลากรทางการแพทย์โดนโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธเป็นระยะ แม้แต่ในเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาที่โรคโควิด-19 ระบาด การโจมตียังเกิดขึ้นในสถานพยาบาล และในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเดินทางระหว่างปฏิบัติงาน 

ในพม่า ซึ่งเกิดการประท้วงการทำรัฐประหารโดยผู้นำทหาร และมีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง จำนวนเหตุการณ์คุกคามบุคลากรทางการแพทย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ค. ปีนี้ มีบันทึก 252 เหตุการณ์ แบ่งเป็นการจับกุมบุคลากรทางการแพทย์ 190 ราย ได้รับบาดเจ็บ 37 ราย และเสียชีวิต 25 ราย

นอกจากนี้ วิกฤติด้านมนุษยธรรมยังส่งผลต่อกลุ่มประชากรเปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และเยาวชน โดยในกลุ่มประชากร 82.4 ล้านคนที่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกหนีวิกฤติ 42% เป็นประชากรในวัยเด็ก

9 ใน 10 ของประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตทารกแรกเกิดสูง ล้วนเป็นประเทศที่ประสบวิกฤติด้านมนุษยธรรมทั้งสิ้น ประชากรในประเทศนี้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคนทำงานด้านมนุษยธรรม รวมทั้งพยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ ที่จำเป็นต้องดูแลอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและเด็ก

ด้วยภัยคุกคามที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เครือข่าย PMNCH จึงเรียกร้องผ่านบทความ โดยขอให้นานาประเทศหยิบความปลอดภัยในการทำงานของคนที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขึ้นมาเป็นวาระทางสุขภาพระดับโลก

บุคคลเหล่านี้ต้องการมากกว่าการให้เกียรติและความชื่นชม พวกเขาต้องการความปลอดภัย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระหว่างทำงานช่วยเหลือผู้อื่น   

PMNCH เสนอให้ทุกประเทศผนวกข้อปฎิบัติในการดูแลคนทำงานด้านมนุษยธรรม และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เข้าในกลไกเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อโรคระบาดในอนาคต โดยรัฐบาลต้องพัฒนาและบังคับใช้นโยบายที่ดูแลคนเหล่านี้

นอกจากนี้ นโยบายยังต้องเน้นยำการดูแลคนทำงานอย่างมีคุณภาพ ให้การฝึกอบรม ความเป็นธรรมในการว่าจ้าง และให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

เพราะบุคลากรเหล่านี้เป็นทรัพยากรสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคุ้มครองสุขภาพของกลุ่มประชากรเปราะบางได้อย่างทั่วถึง

อ้างอิง
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01892-4/fulltext