ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบัน​มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก จนเกินศักยภาพการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องรักษาอาการตนเองที่บ้าน​ หรือที่เราเรียกว่า​ Home​ Isolation

ทราบหรือไม่ว่า "ออกซิเจน" เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ และจึงทำให้ "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" กลายเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้อง Home​ Isolation ด้วย

เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น "ผศ.พญ.พิชญาภา รุจิวิชชญ์" สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมาให้ความกระจ่างว่าทำไม "ออกซิเจน" ถึงจำเป็นกับผู้ป่วยโควิด-19

บทบาท "เครื่อง​วัดออกซิเจน​ปลายนิ้ว" ในโควิด-19

"เครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว" เป็นหนึ่งในอุปกรณ์​ของผู้ป่วย​ Home​ Isolation​ ที่ช่วยวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือด​ เป็น​การตรวจที่ง่ายและสามารถ​ตรวจ​ได้ด้วยตนเอง​ โดยการนำเครื่องมาหนีบที่ปลายนิ้ว​ รอให้สัญญาณ​คงที่ประมาณ​ 15-30​ วินาที แล้วค่อยทำการอ่านผลจากหน้าจอ​

ใน "ผู้ป่วย​ปอดอักเสบ​จากโควิด-19" ถ้าค่าที่อ่านได้จากเครื่องในขณะพักมีค่าน้อยกว่า​ 96% (เต็ม 100%) หรือมีค่าลดลง 3% ขึ้นไป ในขณะที่ออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ 3 นาที หรือลุกยืน-นั่งเก้าอี้เร็วๆ 1 นาที ​ให้สงสัยว่า อาจมีปอดอักเสบ​จากโควิด-19​ ควรให้ยาต้านไวรัส ยาต้านการ​อักเสบ ​ควบคู่​ไปกับการพิจารณาให้ออกซิเจนเสริม​

หากพูดถึงในสถานการณ์โควิด-19 นั้น เครื่อง​วัดออกซิเจน​ปลายนิ้วเป็นเพียงเครื่อง​ที่ใช้ติดตามอาการปอดอักเสบเบื้องต้นของผู้ที่ถูกตรวจยืนยัน​ว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว​ ซึ่งจะช่วยบอกได้เบื้องต้นว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รายนั้นๆ มีอาการปอดอักเสบหรือไม่ และอาการเป็นมากหรือเป็นน้อยเพียงใด

แต่แน่นอนว่า "ไม่ได้เป็นอุปกรณ์​ที่ใช้วินิจฉัย​ว่าติดเชื้อโควิด-19"

อันที่จริงการวัดค่าออกซิเจนในเลือด ทำได้ 2 วิธี คือ 1. ใช้เครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว โดยมีข้อควรระวังในการวัดค่าออกซิเจนจากปลายนิ้ว คือ เครื่องที่ใช้วัดต้องได้มาตรฐาน อ่านผลได้แม่นยำ นิ้วที่ใช้หนีบวัดต้องไม่ทาเล็บ และเวลาวัดต้องอยู่นิ่งๆ

2. วัดระดับออกซิเจนจากการเจาะเลือดจากเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งจะได้ค่าที่แม่นยำแต่ต้องทำการตรวจที่โรงพยาบาล และต้องเจาะเลือดจากเส้นเลือดแดง ซึ่งเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเจาะ

"ปอดอักเสบ" สาเหตุหลักในการรักษาระดับ​ออกซิเจน

โดยทั่วไป​ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากจะมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายเป็นหวัด​ ได้แก่​ อาการคัดแน่นจมูก​ ไอ​ เจ็บคอ​ มีไข้​ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการจมูก​ไม่ได้กลิ่น​ ลิ้นไม่รับรส​ ร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากร่างกาย​เดิมแข็งแรง​ มีอาการไม่มาก​ จะสามารถ​หายเองได้​เพียงให้การรักษาตามอาการ

อย่างไรก็ตามประมาณ​ช่วง​วัน​ที่ ​4-7 เป็นต้นไป นับจากวันแรกที่เริ่มมีอาการ​ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีเชื้อลุกลามเข้าหลอดลมลงสู่ปอดจนเกิดภาวะปอดอักเสบขึ้น​ โดยเฉพาะ​ผู้ที่ร่างกายเดิมอ่อนแอ​ มีโรคประจำตัว​เสี่ยง​ เช่น โรคหัวใจ​ โรคปอด​ โรคตับ​ โรคไต​ ความดันโลหิตสูง​ เบาหวาน โรคมะเร็ง​ หรือกินยากดภูมิต้านทาน​ โรคอ้วน​ เป็นต้น

ทั้งนี้ สังเกตได้จากผู้​ป่วยจะมีอาการ​ไอมาก​ บางคนมีไอเสมหะปนเลือด​ เหนื่อย หายใจลำบาก​ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาสูดหายใจเข้าลึกๆ หรือเวลาไอ มีไข้​ และมีระดับออกซิเจนในร่างกาย​ต่ำกว่าค่าปกติได้​

ในการรักษา​ผู้ป่วย​ปอดอักเสบ​จากโควิด-19 นอกจากการรักษา​โดย​การให้ยาต้านไวรัส ยาต้านการ​อักเสบ ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ แล้ว​ การรักษา​ที่สำคัญ​อีกอย่างหนึ่ง​ คือ​ "การให้ออกซิเจนให้เพียงพอ​เพื่อรักษาระดับ​ออกซิเจน​ในเลือด"

นั่นก็เพื่อที่จะไปเลี้ยง​อวัยวะ​สำคัญ​ต่างๆ​ เช่น​ หัวใจ​ ตับ​ ไต​ สมอง​ ไม่ให้ทำงานทรุดตามลงไป​ ซึ่งถ้าอวัยวะ​สำคัญ​ต่าง ๆ ล้มเหลว อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต​ได้ 

ขณะเดียวกัน หาก​ให้ออกซิเจน​มากกว่าปกติ อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย​ได้ โดยจะก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ และก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดลมรวมถึงเนื้อปอดได้ ดังนั้นจึงควรใช้ออกซิเจนเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และไม่ให้มากจนเกินไป

โดยปกติแล้วการให้ออกซิเจน จะใช้เฉพาะในผู้ที่มีออกซิเจนในร่างกายต่ำ ส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยโรคปอด​ ได้แก่​ โรคปอดอุด​กั้น​เรื้อรัง​ หรือถุงลม​โป่งพอง​ โรคหลอดลมอักเสบ​เรื้อรัง​ ​โรคพังผืด​ในปอด​ และโรคปอดอื่นๆ​ ที่มีปัญหา​ออกซิเจนในร่างกาย​ต่ำ

ส่วนข้อบ่งชี้ในการให้ออกซิเจนจะไม่เหมือนกับในผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 เนื่องจากในผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เมื่อเป็นมานานๆ ร่างกายจะมีการปรับตัวให้เข้ากับภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำได้ระดับหนึ่ง ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังจึงเริ่มให้ออกซิเจนก็ต่อเมื่อระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วมีค่าต่ำมาก (≤ 88%) หรือมีโรค/ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำนานๆ เช่น ความดันหลอดเลือดปอดสูง หัวใจห้องขวาล้มเหลว เป็นต้น

เครื่องผลิตออกซิเจน VS ถังออกซิเจน

เมื่อมาถึงการใช้งาน ออกซิเจน​ที่ใช้นอกโรงพยาบาลมี​ 2 แบบ​ คือ เครื่องผลิตออกซิเจน และถังออกซิเจน โดยแต่ละแบบจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ได้แก่

1. เครื่องผลิตออกซิเจน ต้องเสียบปลั๊กใช้ไฟฟ้า ดึงอากาศในห้องมาผลิตเป็นออกซิเจนระดับความเข้มข้นต่างๆ ควรเลือกรุ่นที่ผ่านการรับรองคุณภาพแล้ว และเปิดได้อย่างน้อย 5 ลิตรต่อนาที

ข้อดีคือ ไม่ต้องคอยเติมออกซิเจน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องใช้ออกซิเจนขนาดสูงและใช้เป็นระยะเวลานาน แต่ข้อเสียคือ ต้องใช้ไฟ ดังนั้นถ้าไฟดับคือเครื่องจะไม่ทำงาน ยกเว้นบางรุ่นที่มีแบตเตอรีสำรอง และตัวเครื่องจะมีอายุการใช้งานที่ต้องรับการบำรุงรักษา

2. ถังออกซิเจน ข้อดีคือไม่ต้องใช้ไฟ ดังนั้นถ้าไฟดับจะยังสามารถใช้ได้อยู่ แต่มีข้อเสียคือ เมื่อออกซิเจนหมดถังต้องคอยหาที่เติมออกซิเจน ดังนั้นในผู้ที่ใช้ออกซิเจนเป็นระยะเวลานาน อาจต้องมีถังสำรองไว้ระหว่างที่รอเติม

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการใช้ออกซิเจนทั้งสองแบบคือ ระวังไม่ให้มีประกายไฟ ผู้ป่วยห้ามสูบบุหรี่ระหว่างที่ใช้ออกซิเจนเด็ดขาด เพราะออกซิเจนจะติดไฟได้