ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยค่าบริการ Home Isolation และ Community Isolation โรงพยาบาลไหนมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นๆ สนับสนุนค่าอาหารให้ผู้ป่วย ให้เบิกได้วันละ 600 บาท แต่ถ้าโรงพยาบาลเป็นผู้จัดอาหารให้ผู้ป่วยเอง ให้เบิกได้วันละ 1,000 บาทเหมือนเดิม พร้อมเพิ่มรายการจ่ายค่าออกซิเจนให้อีกวันละ 450 บาท


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดประชุมชี้แจงระบบการจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation : HI) และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในระบบชุมชน (Community Isolation : CI) สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านระบบ Zoom meeting โดยมีผู้แทนโรงพยาบาลต่างๆเข้าร่วมประชุมหลายพันคน

ทั้งนี้ เดิมที สปสช.จ่ายค่าดูแลรักษาใน Home Isolation หรือ Community Isolation แบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/วัน โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมอาหาร 3 มื้อ ค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา และค่ายาพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้หลักเกณฑ์นี้ไปได้ระยะหนึ่งมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนอาหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดการเบิกจ่ายค่าอาหารที่ซ้ำซ้อนกับ สปสช. และมีข้อเสนอให้แยกค่าใช้จ่ายในการให้บริการโดยไม่รวมค่าอาหาร

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงมีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถจัดอาหารให้ผู้ป่วยได้ในช่วงวันแรกๆ หรือมีงบประมาณจากที่อื่นมาสนับสนุนแล้ว ให้หน่วยบริการเบิกค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยแบบไม่รวมค่าอาหาร โดย สปสช. เหมาจ่ายในอัตรา 600 บาท/วัน ซึ่งเงินค่าอาหาร 400 บาทที่ลดทอนลงไปนั้นอ้างอิงจากราคาจากกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยบริการไหนที่จัดบริการโดยจัดหาอาหารแก่ผู้ป่วยด้วย ให้เบิกในอัตราเดิมคือ 1,000 บาท/วัน

นอกจากนี้ สปสช.ยังเพิ่มรายการจ่ายเพิ่มเติมคือค่าออกซิเจนสำหรับการดูแลรักษา สปสช.ก็จ่ายให้ในอัตรา 450 บาท/วัน

สำหรับระบบการให้บริการจะเริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK หากผลเป็นบวก ถ้ามีความจำเป็นก็ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลโดยต้องตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง หากอาการไม่รุนแรงก็ทำ Home Isolation, Community Isolation โดยกรณีเข้า Community Isolation ต้องยืนยันผลด้วย RT-PCR  เช่นกัน แต่ถ้าทำ Home Isolation ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งในการจ่ายค่าชุดตรวจ ATK ถ้าเป็น Chromatography สปสช.จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาท/ครั้ง แต่ถ้าเป็น FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาท/ครั้ง และถ้าต้องตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR สปสช.จะจ่ายค่าเก็บ Swab 100 บาท/ครั้ง ค่าตรวจแล็บ 1,100-1,300 บาท/ครั้ง และค่าอื่นๆในห้องแล็บ 300 บาท/ครั้ง

ส่วนค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย กรณีหน่วยบริการจัดอาหารให้ผู้ป่วย  สปสช.จ่าย 1,000 บาท/วัน แต่ถ้าหน่วยบริการไม่ได้จัดอาหารให้หรือมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่คือเบิกได้ 600 บาท/วัน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท ค่ายาเฉพาะโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท และกรณีที่ต้องมีการส่งต่อ สปสช.จ่ายค่ารถให้ตามจริง บวกค่าทำความสะอาด 3,700 บาท กรณีต้องเอกซเรย์ปอด จ่ายในอัตรา 100 บาท/ครั้ง และรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือค่าออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ จ่ายในอัตรา 450 บาท/วัน และสำหรับการดูแลใน Community Isolation เพิ่มเติมค่า PPE หรือค่าอื่นๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาท/วัน